"วิกฤติพลังงาน" ระเบิดลูกใหญ่ของรัฐบาล

"วิกฤติพลังงาน" ระเบิดลูกใหญ่ของรัฐบาล

การปรับโหมดประเทศจากภาวะ "วิกฤติโควิด-19" ให้เข้าสู่โหมดการ "ฟื้นฟูเศรษฐกิจ" ดูเหมือนดำเนินการได้ยากลำบาก โดยพบว่าภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะ "วิกฤติพลังงาน"

ความน่ากังวลของ "วิกฤติพลังงาน" ไม่ได้ส่งผลกระทบอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวอัตราเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. 2565 เทียบช่วงเดียวกันกับปี 2564 สูงขึ้น 7.66% เป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 13 ปี ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากราคากลุ่มพลังงานมีขยายตัว 39.97%

ถึงแม้ กระทรวงพาณิชย์ จะชี้แจงว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่อัตราเงินเฟ้อของไทยถือว่าปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนวิกฤติพลังงาน

ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพของพลังงานขายปลีกในประเทศ ทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้ม นอกจากอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยที่ทำสถิติใหม่รายเดือนแล้ว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำสถิติใหม่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

 

โดยสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 3 ก.ค. 2565 ติดลบ 107,601 ล้านบาท เป็นการติดลบสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และคาดว่าจะใช้เวลานานกว่าจะกลับมาเป็นพวก เพราะราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง

สิ่งที่น่ากังวล คือ นับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนรวม 4 เดือน ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 20,000 ล้านบาท

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีประมาณการณ์ว่าหากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีระดับการอุดหนุนราคาพลังงานเช่นนี้ต่อไป จะทำให้ติดลบถึง 200,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวลมากว่า รัฐบาลจะจัดการกับวิกฤติพลังงานนี้อย่างไร เพราะถึงปัจจุบันยังไม่มีวิธีการอื่นที่เป็นรูปธรรมมาลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

 

ความคาดหวังที่จะปรับโหมดประเทศจากภาวะวิกฤติโควิด-19 ให้เข้าสู่โหมดการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดูเหมือนดำเนินการได้ยากลำบาก โดยหลายหน่วยงานเศรษฐกิจได้ปรับลดประมาณการณ์จีดีพีของประเทศไทยลง  นั่นหมายความว่า ภาพของภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น ความคาดหวังจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ในขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

สถานการณ์ของวิกฤติพลังงานจึงกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ของรัฐบาล โดยในปี 2563-2565 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานที่มีวงเงินถึง 206,903 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นมาตรการลดค่าไฟฟ้าถึง 50%

แต่หลังจากนี้การใช้เงินเพื่อดูแลราคาน้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องรีบตัดสินใจหลายอย่างเพื่อรับมือวิกฤติพลังงาน เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายระเบิดลูกใหญ่ที่ทำให้ประเทศไทยจมอยู่ในวิกฤติพลังงานจนหาทางออกลำบาก