บทบาท Market Maker ในตลาดรอง: ต้องไม่ผลักดันราคา ไม่สร้างปริมาณเทียม

บทบาท Market Maker ในตลาดรอง: ต้องไม่ผลักดันราคา ไม่สร้างปริมาณเทียม

ผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ "Market Maker" คงเป็นชื่อที่ผู้คนที่อยู่ในแวดวงตลาดทุน ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศคุ้นหูเป็นอย่างดี แต่รู้หรือไม่ว่า Market Maker โดยทั่วไปแล้วมีหน้าที่และมีประโยชน์ต่อตลาดทุนอย่างไร

ก่อนอื่นเมื่อกล่าวถึงตลาดทุน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการระดมทุนแล้ว เรามักจะมองไปถึงการมี "ตลาดรอง" ที่ทำให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ ม่ว่าจะเป็นตราสารทุน (หุ้นสามัญ) ตราสารหนี้ (หุ้นกู้) หน่วยลงทุนต่างๆ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ก็มีตลาดรองที่เรียกว่า "ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล" ที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเคนดิจิทัล

วัตถุประสงค์สำคัญของตลาดรองคือ การให้ผู้ถือหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นๆ สามารถเข้ามาซื้อขายเปลี่ยนมือได้ตามความต้องการของผู้ลงทุน/ผู้ซื้อขาย การมี "สภาพคล่อง" จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะมาช่วยให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถซื้อหรือขายหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลได้เมื่อต้องการ

และหากหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นๆ ไม่มีสภาพคล่อง  Market Maker จึงมีความสำคัญในการดูแลสภาพคล่องให้หลักทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการตั้งราคารับซื้อ (bid) และตั้งราคาขาย (offer) ให้เป็นไปตามกลไกของตลาด เพื่อให้ราคาที่เกิดขึ้นในตลาดสะท้อนความต้องการของผู้ลงทุนอย่างแท้จริง 

ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่ Market Maker จะได้รับค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์จากการทำหน้าที่ เช่น การลดค่าคอมมิชชั่น จากตลาดหลักทรัพย์ หรือศูนย์ซื้อขายฯ รวมทั้งอาจได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาจากการทำธุรกรรมซื้อขายด้วย

Market Maker เสริมสภาพคล่องได้ แต่ห้ามทำ wash trading

ในการทำหน้าที่ในการส่งคำสั่งของ Market Maker นั้น จะต้องไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อตลาดโดยรวม หรือหาประโยชน์จากผู้ลงทุน และสิ่งสำคัญต้องไม่เป็นการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย 

นกรณีที่มีการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในหลายตลาด และราคาซื้อขายแตกต่างกันมาก กลไกการเข้าไปดูแลสภาพคล่องของ Market Maker ก็จะทำให้ราคาของหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกับที่ซื้อขายในตลาดอื่น ผ่านกระบวนการ arbitrage* 

โดยซื้อหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในตลาดที่ราคาต่ำกว่า (ราคาถูก) และไปขายในตลาดที่ราคาสูงกว่า (ราคาแพง) และเมื่อถึงจุดหนึ่งส่วนต่างราคา และโอกาสในการทำกำไรจาก arbitrage จะหายไป

โดย Market Maker จะตั้งราคาเพื่อรองรับการซื้อขายกับผู้ลงทุน แต่จะไม่เข้าไปซื้อขาย และจับคู่กันเอง เพื่อให้ราคาไปอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ในลักษณะการชี้นำราคา และทำให้บุคคลทั่วไปสำคัญผิดทั้งในส่วนของราคา และปริมาณการซื้อขาย ซึ่งเป็นการทำเกินหน้าที่ เอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น อาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ Market Maker ที่สร้างปริมาณเทียมโดยการจับคู่ซื้อขายกันเอง (Wash Trade) ซึ่งการกระทำดังกล่าวกระทำไปโดยธุรกรรมซื้อ และขายที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของ ทำโดยบุคคลเดียวกัน เพื่อลวงนักลงทุนว่าหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น มีนักลงทุนซื้อขายกันเป็นจำนวนมาก ตลาดคึกคัก

แต่แท้ที่จริงปริมาณการซื้อขายที่เกิดขึ้นจำนวนมากนั้น เป็นของ Market Maker เอง ไม่ใช่ปริมาณการซื้อขายจริงที่เกิดจากนักลงทุน การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ลงทุน/ผู้ซื้อขาย ว่ามีปริมาณซื้อขายมากกว่าที่เป็นจริง ไม่เป็นไปตามกลไกของตลาดอย่างแท้จริง 

ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561

ดังนั้น Market Maker จึงเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยดูแลให้หลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นที่สนใจของผู้ลงทุน และทำให้ผู้ลงทุนได้ประโยชน์ แต่การทำหน้าที่ของ Market Maker ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ Market Maker เข้าไปรับทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่องด้วย จึงจะเป็นการช่วยดูแลตลาดรองให้มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ ของผู้ลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ

หมายเหตุ: arbitrage คือ การทำกำไรจากความแตกต่างของราคาสินค้าชนิดเดียวกันที่ซื้อขายอยู่คนละตลาด

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์