กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ ยังมีจังหวะให้เก็งกำไรหุ้นธีมเศรษฐกิจภายในประเทศ

กลยุทธ์การลงทุนรายสัปดาห์ ยังมีจังหวะให้เก็งกำไรหุ้นธีมเศรษฐกิจภายในประเทศ

ในสัปดาห์ที่แล้ว (27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม) ตลาดหุ้นไทยผันผวนมาก และอ่อนแอเกินคาด แต่ยัง outperform ตลาดโลกอย่างมาก

โดยในระหว่างสัปดาห์ สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกถูกกดดันจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ และผลสำรวจต่าง ๆ ออกมาแย่เกินคาด นอกจากนี้ แบบจำลอง GDP tracker ของ Fed สาขา Atlanta ยังบ่งชี้ว่า GDP สหรัฐใน 2Q65 อาจจะหดตัว 2.1% QoQ SAAR ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะนับว่าเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิค
ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจมีน้ำหนักมากกว่าดัชนีเงินเฟ้อ PCE เดือนพฤษภาคมที่ลดลงเหลือ 4.7% YoY ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าเงินเฟ้อสหรัฐผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ส่วนทางด้านของปัจจัยภายในประเทศ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และการกลับมาเปิดให้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยังคงทำให้เกิดความคาดหวังว่าการบริโภคภาคเอกชนจะแข็งแกร่ง และ GDP จะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ธปท. รายงานว่าดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) เพิ่มขึ้นถึง 11% YoY จากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการบริโภคที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ

 

สำหรับในสัปดาห์นี้ (4 -8 กรกฎาคม) เราคาดว่าดัชนี SET จะยังคงผันผวนอย่างหนัก เพราะความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยจะยังคงกดดันให้ตลาดยังอยู่ในโหมด risk-off ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ตัวเลข ISM ภาคการผลิตในเดือนมิถุนายนออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้ ในขณะที่ชนีคำสั่งซื้อใหม่ ISM ลดลงไปต่ำกว่า 50 ดังนั้น นักลงทุนจึงน่าจะเฝ้าติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่จะออกมาในสัปดาห์นี้เพื่อประเมินโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เรามองว่าโมเมนตัมจะยังคงเป็นบวกต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยยกเลิกข้อกำหนดในโครงการ ‘Thailand Pass’ ซึ่งน่าจะช่วยจำกัด downside ของดัชนี SET นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับลดลงมาในช่วงหลังนี้ยังช่วยให้มูลค่าหุ้นในตลาดดูน่าสนใจขึ้นเมื่อวิเคราะห์ในเชิง earnings yield gap

 

วิเคราะห์ปัจจัยในตลาด: มีทั้งบวกและลบ – ความกลัวเศรษฐกิจถดถอย VS Fed ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย

(0/-) ยังคงประเมินความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยโดยดูจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ในวันที่ 6 กรกฎาคม จะมีการรายงานตัวเลข ISM นอกภาคการผลิต และรายงานการประชุม FOMC รอบเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับมุมมองของตลาดต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิถุนายนที่จะประกาศออกมาในวันที่ 8 กรกฎาคมด้วย

 

 

 

 

(0/+) ติดตามความคาดหวังของตลาดต่อแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ จากข้อมูลล่าสุด CME Fed Fund Futures คาดว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะขึ้นไปอยู่ที่ 3.50% เท่ากับ dot-plot ของ Fed ก่อนที่จะลดกลับลงมาอยู่ที่ 3.25% ในช่วงกลางปี 2566 ทั้งนี้ หากมีการปรับความคาดหมายของตลาดต่ออัตราดอกเบี้ยลง อาจจะทำให้ค่าเงิน USD และ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐลดลง ซึ่งจะช่วยหนุนให้ภาวะตลาดดีขึ้น

 

ยังคงแนะนำให้ซื้อสะสม / ซื้อเก็งกำไร ในช่วงที่ตลาดผันผวน

ถึงแม้จะมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ และ EU แต่เราคิดว่าระดับของการถดถอยน่าจะไม่รุนแรง ในขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจมหภาคของไทยกำลังดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้หุ้นไทยฟื้นตัวได้ดี ดังนั้น เราจึงแนะนำให้นักลงทุนเน้นหุ้นในธีมการลงทุนที่เราแนะนำไว้ อย่างเช่น i) ธนาคารใหญ่ที่จะได้อานิสงส์จากการขึ้นดอกเบี้ย และภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น (KBANK*, KTB*) ii) หุ้น laggard ในธีมการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และ การเปิดประเทศ (AOT*, CPALL*, MAJOR*) iii) กลุ่มอาหารและเกษตรที่จะได้อานิสงส์จากราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นในช่วงนี้ และต้นทุนที่เริ่มมีเสถียรภาพ (CPF*, TFG) และ iv) หุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการที่จีนผ่อนคลายเกณฑ์การคุม COVID-19 ลง (MBK, ERW)