ไทยตั้งเป้าเจรจาเอฟทีเอไทย- EFTA พร้อมเปิดประชาพิจารณ์กองทุนเอฟทีเอ

ไทยตั้งเป้าเจรจาเอฟทีเอไทย- EFTA  พร้อมเปิดประชาพิจารณ์กองทุนเอฟทีเอ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเจรจา เอฟทีเอ ไทย-EFTAเผยหารือระดับหัวหน้าคณะเจรจา รอบแรกแล้วสรุปเบื้องต้นเจรจาใน 16 หัวข้อส่วน EFTA จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรอบต่อไปช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ พร้อมเดินยกร่างกองทุนเอฟทีเอเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA )ไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ เมืองบอร์การ์เนส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ กรมฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA ไทย-EFTA รอบแรก ระหว่างวันที่ 28-30 มิ.ย. 2565 ณ กรุงเทพฯ โดยการประชุมครั้งนี้ ได้แบ่งการเจรจาเป็น 2 ระดับ คือ ระดับหัวหน้าคณะเจรจา และการเจรจากลุ่มย่อยโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม

 

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับระดับหัวหน้าคณะเจรจา ได้หารือเกี่ยวกับภาพรวมของการเจรจารอบแรก ทั้งประเด็นโครงสร้าง แนวทาง รูปแบบการเจรจา และแผนการเจรจาต่อไปในอนาคต โดยฝ่ายไทยเสนอให้ตั้งเป้าหมายให้สามารถสรุปผลการเจรจาให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี ส่วนการเจรจากลุ่มย่อย มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม โดยแบ่งเป็น 16 หัวข้อ อาทิ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าและความร่วมมือด้านศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า การค้าบริการ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  ทรัพย์สินทางปัญญา การระงับข้อพิพาท

โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นและวางแผนงานสำหรับการเจรจารอบต่อไป รวมถึงจะมีการหารือระหว่างรอบในรายละเอียดที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้าโดยเร็ว ทั้งนี้ สำหรับการเจรจารอบต่อไป EFTA จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 4พ.ย. 2565 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย. 65) การค้าระหว่างไทย และ EFTA มีมูลค่า 4,436.91 ล้านดอลลาร์โดยไทยส่งออกไป EFTA มูลค่า 2,734.37 ล้านดอลลาร์สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และนำเข้าจาก EFTA มูลค่า 1,702.54 ล้านดอลลาร์สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์สาหรับการบริโภค

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุนเอฟทีเอ ว่า ภายหลังครม.เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมยกร่าง “พ.ร.บ. กองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. ...” หรือ ร่าง “พ.ร.บ. กองทุน เอฟทีเอ” แล้ว และเตรียมจัดรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องต่อร่างดังกล่าว หลังจากที่ได้รับแจ้งมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ จากคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้เสนอเรื่องเข้า ครม. ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการรับฟังความเห็น จะใช้ระยะเวลา 3-4เดือน ก่อนที่จะนำร่าง พรบ. เสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภา ตามกระบวนการตรากฎหมายของไทยต่อไป

ทั้งนี้กองทุน เอฟทีเอมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ ทั้งภาคการผลิตสินค้าเกษตรภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยจะให้ความช่วยเหลือ 2 รูปแบบ คือ เงินจ่ายขาด อาทิ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่ปรึกษา ฝึกอบรม และการตลาด และเงินหมุนเวียน อาทิ ค่าลงทุนต่างๆ ค่าเครื่องมือและอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายหมุนเวียน

นอกจากนี้ กองทุนเอฟทีเอจะทำงานร่วมกับหน่วยงานข้อกลางต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตร วิชาการ และธนาคาร อาทิ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด มหาวิทยาลัย ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธกส.) และ SME Bankเพื่อเชื่อมโยงกลุ่มผู้ขอรับการช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ กับกองทุนเอฟทึเอ นอกจากนี้ หน่วยงานข้อกลางจะช่วยสนับสนุนกลุ่มผู้ขอรับการช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ การให้คำปรึกษา การริเริ่มและช่วยเหลือการจัดทำข้อเสนอโครงการ การพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการ การจัดส่งข้อเสนอโครงการต่อกองทุน การดำเนินและกำกับโครงการ การเบิกจ่าย และการรายงานผลการดำเนินการต่อกองทุน

สำหรับการพิจารณาอนุมัติโครงการช่วยเหลือที่ขอผ่านหน่วยงานข้อกลางเข้ามานั้น กองทุนจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อพิจารณาอนุมัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะกำหนดต่อไป อาทิ เป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าหรือบริการที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าโดยผลการศึกษา ระบุว่า ภาคการผลิตหรือภาคบริการที่ขอรับความช่วยเหลือนั้น อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งการจัดตั้งกองทุน เอฟทีเอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นกลไกสำคัญเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอและเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้าของภาครัฐที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ