แผนผ่อนผันโควิดหนุน เทรนด์เทรดอาหารโลก

แผนผ่อนผันโควิดหนุน  เทรนด์เทรดอาหารโลก

ปศุสัตว์ เผยส่งออกสินค้าปศุสัตว์ 5 เดือนกว่า 1 แสนล้านบาท พุ่ง 21 % คาดครึ่งปีหลัง การผ่อนผันมาตรการโควิดหนุนการค้าโตต่อ

นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในช่วงครึ่งหลังปี2565 นี้ ได้มีการเจรจาเปิดตลาดและขยายตลาดการส่งออก ส่งผลให้แนวโน้มปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงเพิ่มปริมาณและมูลค่าได้อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ จากที่สิงคโปร์มีการผ่อนปรนมาตรการนำเข้าสินค้าเนื้อสัตว์ปีกดิบทำให้ไทยส่งออกได้มากขึ้น มาเลเซียมีการนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกจากไทยมากขึ้นและจะมาตรวจประเมินพิจารณาขึ้นทะเบียนโรงงานนมเพิ่มเติม องค์การอาหารและยาของซาอุดิอาระเบีย (SFDA) อนุญาตให้นำเข้าไก่จากไทยได้หลังจากที่ระงับมานานและได้ขึ้นทะเบียนโรงงานสัตว์ปีกไทยเพิ่มอีก 11 โรงงาน ทำให้เป็นโอกาสในการเพิ่มตลาด

ส่งออกได้มากขึ้น และแคนาดาจะตรวจประเมินโรงงานสัตว์ปีกเพื่อพิจารณาการนำเข้าเนื้อเป็ดแปรรูปปรุงสุกจากไทย

สถานการณ์ส่งออกที่ดีขึ้นเกิดจากแรงส่งที่แนวโน้มการแพร่ระบาดโรคโควิด- 19 ทั่วโลกที่ดีขึ้น ทำให้มีการเปิดประเทศและอุตสาหกรรมเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นและขยายตัว ส่งผลให้สินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทยส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.- พ.ค. )มีมูลค่า 1.06 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.82 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

แบ่งเป็นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปปริมาณ 4.15 แสนตัน มูลค่า 5.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นสินค้าประเภทเนื้อไก่แปรรูปมากที่สุดคิดเป็น 61% คู่ค้าหลักคือญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป

สินค้ากลุ่ม Non-frozen ประกอบด้วย ไข่และผลิตภัณฑ์ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นม ปริมาณ 1.25 แสนตัน มูลค่า 1.07 หมื่นล้านบาท โดยเป็นสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมมากที่สุดคิดเป็นประมาณ 80% กลุ่มสินค้าปลากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) ปริมาณ 3.66แสนตัน มูลค่า 3.68 หมื่นล้านบาท 

“การส่งออกที่มากขึ้นแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าในการตรวจสอบ กำกับและควบคุมกระบวนผลิตด้านความปลอดภัยอาหารของกรมปศุสัตว์ ตลอดห่วงโซ่การผลิต "

โดยมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอดรับได้แก่ ฟาร์มมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ( GAP) โรงฆ่าและโรงแปรรูปที่มีการปฏิบัติทางสุขลักษณะที่ดี ( GHPs) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม ( HACCP) สอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎหมายในประเทศ ตามระเบียบของประเทศคู่ค้า และตามหลักสากล