ปตท. ลุ้นปีหน้าราคาน้ำมันดิบลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์

ปตท. ลุ้นปีหน้าราคาน้ำมันดิบลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์

ปตท. มองราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบปีนี้ 103-104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ลุ้นปี 65 ราคาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังโอเปกเพิ่มกำลังการผลิต แนะประชาชนร่วมมือประหยัดพลังงานช่วงวิกฤตราคาแพง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.ได้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะทรงตัวในระดับสูงที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลบวกลบ หรือมีราคาเฉลี่ยทั้งปีนี้อยู่ที่ระดับ 103-104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ต้นทุนราคาขายปลีกพลังงานโดยรวมของประเทศไทย ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ NGV และ LPG ยังอยู่ในระดับสูง 

สำหรับคาดการณ์ราคาน้ำมันปี 2566 คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะอ่อนตัวลงต่ำกว่าระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ หากไม่มีสถานการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เช่น ปัญหาการสู้รบระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย-ยูเครน และการคว่ำบาตรที่ไม่รุนแรงขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในปีหน้า คาดว่าจะมีซัพพลายน้ำมันดิบเข้าสู่ตลาดมากขึ้น หลังกลุ่มประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (โอเปก) เตรียมทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเดือนละ 6 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถึงสินปีนี้ น่าจะมีซัพพลายน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ตลาดสิ้นปีนี้ 3 ล้านบาร์เรล

นายอรรถพล กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ปตท.ได้เข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนราคาพลังงานให้กับกลุ่มเปราะบาง อาทิ การใช้ส่วนลดราคา NGV สำหรับรถแท็กซี่ และร้านค้า หาบเร่แผงลอยในส่วนของก๊าซ LPG รวมเป็นงบประมาณเกือบ 3,300 ล้านบาท และจะยังยืดอายุมาตรการช่วยเหลือตามนโยบายรัฐต่อไปอีก 3 เดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งหากรวมการช่วยเหลือด้านพลังงานที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 รวมเป็นหลักหมื่นล้านบาท

“วอลุ่มการใช้พลังงานของไทย ถือว่าใหญ่มาก ที่ผ่านมามีมูลค่าราว 2 ล้านล้านบาท และสิ้นปีนี้ น่าจะเกือบ 3 ล้านล้านบาท สูงขึ้นตามต้นทุนพลังงานที่แพงขึ้น ฉะนั้น มุ่งความช่วยเหลือไปเฉพาะที่กลุ่มคนเปราะบาง น่าจะเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ในภาวะวิฤกต ควบคู่กับการประหยัดพลังงาน ส่วนมาตรการช่วยเหลือจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐ และสิ่งสำคัญคือการร่วมมือประหยัดพลังงาน เพราะเมื่อลดการใช้ลงจะช่วยกดราคาให้ต่ำลงได้อีกช่องทาง”

นายอรรถพล กล่าวว่า วิธีการที่ดีที่สุดในยามเกิดวิฤกตพลังงาน คือ การประหยัดพลังงาน และปตท. มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยยึด 3 เรื่องหลัก คือ

1.ความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งวันนี้ประเทศไทยไม่ได้เผชิญกับปัญหาการขาดแคลน

2.ราคาพลังงาน ซึ่งต้องเป็นไปตามตลาดการค้าเสรี และ

3.คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องวางแผนให้เกิดสมดุลในทุกด้าน และไม่ถูกกระทบจากกติกากีดกันทางการค้าของโลก