รับมือวิกฤติพลังงานแพง ‘ฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น-เยอรมนี’

รับมือวิกฤติพลังงานแพง ‘ฝรั่งเศส-ญี่ปุ่น-เยอรมนี’

วิกฤติพลังงานแพง อันเนื่องมาจากภาวะสงครามในยูเครนและความล้มเหลวในการเพิ่มกำลังการผลิต ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่เพียงสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในหลายประเทศ แต่ยังกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้เกิดเป็นยุคข้าวยากหมากแพงซ้ำเติมหลังจากวิกฤติโควิด-19

ผู้รักและติดตามประวัติศาสตร์การเมืองของโลกทราบดีว่า ปัญหาปากท้องของประชาชนนั้นเป็นแรงผลักดันที่เยี่ยมยอด เป็นเชื้อฟืนชั้นดีสำหรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้นำผู้บริหารบ้านเมือง เปลี่ยนชนชั้นนำหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในอดีต เพราะความคับแค้นใจของคนในประเทศที่กำลังอดอยากปากแห้ง ขณะที่ผู้บริหารก็ทำงานไม่เป็นหรือทำได้ไม่ดีพอที่จะปกครองรัฐนาวา ฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจได้

เพราะปัญหาพลังงานราคาสูงนั้น เป็นต้นน้ำส่งต่อให้เกิดปัญหาค่าครองชีพสูงอันเนื่องมาจากราคาค่าขนส่ง ราคาต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นปัญหาที่ทุกประเทศเผชิญร่วมกัน ผู้บริหารที่ชาญฉลาดและมีความเห็นอกเห็นใจประชาชนจึงออกนโยบายเพื่อมาบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน ผู้บริหารที่ฉลาดน้อยหน่อยก็สามารถไปดูไปศึกษาและนำมาปรับใช้ให้ถูกบริบทกับประเทศของตน ซึ่งก็ยังดีกว่าผู้บริหารประเภทสุดท้ายที่ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ประชาชนอดอยากตามยถากรรม

ตัวอย่างประเทศที่ล้มเหลวในทางเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดก็สั่นคลอนความมั่นคงทางการเมืองนั้น มีให้เห็นใกล้ตัวเรามาก เช่น ประเทศลาวและศรีลังกา ที่เงินทุนสำรองประเทศร่อยหรอ เศรษฐกิจกำลังจะเป็นอัมพาต ราคาสินค้าแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ประชาชนทุกข์ร้อนแสนสาหัส

ขณะที่อีกหลายประเทศก็มีแพ็กเกจออกมาช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เพื่อให้ประชาชนยังสามารถก้าวผ่านวิกฤติเศรษฐกิจนี้ได้ อาทิ ฝรั่งเศสที่รัฐกันงบประมาณไว้ 20,000 ล้านยูโร (ประมาณ 733,000 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือประชาชนผ่านส่วนลดน้ำมันมูลค่า 0.15 ยูโรต่อลิตร (ราว 5.50 บาท)

ที่ญี่ปุ่น รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนผ่านส่วนลดน้ำมันมูลค่า 25 เยนต่อลิตร (ประมาณ 6.50 บาท) ซึ่งส่วนลดนี้ก็มีการปรับขึ้นปรับลงตามความผันผวนของราคาน้ำมันในแต่ละช่วง และความช่วยเหลือก็มีกรอบวาระเป็นระบบมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการบรรเทาปัญหาที่ทันท่วงที ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจจากเบื้องบนสั่งการลงมาถึงจะเริ่มคิดเริ่มปฏิบัติได้

ที่เยอรมนี รัฐส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์มากขึ้นโดยการออกบัตรรายเดือนราคาพิเศษที่ 9 ยูโร (ราว 330 บาท) จากปกติที่ประชาชนจำต้องเสียเงินสูงสุดในระบบกว่า 107 ยูโร หากจะเดินทางในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเบอร์ลิน เป็นต้น

3 ตัวอย่างข้างต้น คือแนวทางที่รัฐในประเทศประชาธิปไตยเต็มใบที่เจริญแล้ว บริหารจัดการภาษีและบริหารประเทศในยามวิกฤติ แม้จะไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนในระยะยาว แต่ก็สามารถบรรเทาทุกข์ยากของประชาชนในระยะสั้นลงได้ และไม่ทอดทิ้งทั้งผู้ใช้รถและผู้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ

นอกจากนี้ รัฐยังช่วยค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เพราะทราบว่าค่าใช้จ่ายในครัวเรือนในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นนั้นมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสูง อาทิ ฝรั่งเศสตรึงราคาค่าพลังงานในครัวเรือนให้ไม่สูงเกิน 4% และให้คูปองมูลค่า 100 ยูโร (ราว 3,700 บาท) แก่ครอบครัวที่มีรายได้จำกัด

ที่เยอรมนี รัฐเสนอส่วนลดภาษีมูลค่า 300 ยูโรแก่ประชาชนโดยโอนเงินจำนวนนี้พร้อมกับเงินเดือนเลย และให้ส่วนเพิ่มอีก 100 ยูโรต่อหัวตามจำนวนผู้เยาว์ในแต่ละครอบครัว

จะเห็นได้ว่า ความตั้งใจในการบรรเทาความทุกข์ร้อนและช่วยเหลือประชาชนนั้นออกมาในรูปแบบที่ชัดเจนจับต้องได้ ไม่ใช่นโยบายที่ดูดีหรือคำพูดที่อ่อนหวานแต่ทำไม่ได้ เหมือนสายลมที่พัดมาแล้วก็ผ่านไป