สมาคมแบงก์ วางโรดแมป 3 ปี พัฒนาระบบการเงิน ชู 4 แนวทาง เพิ่มศักยภาพแข่งขันไทย

สมาคมแบงก์ วางโรดแมป 3 ปี พัฒนาระบบการเงิน ชู 4 แนวทาง เพิ่มศักยภาพแข่งขันไทย

สมาคมธนาคารไทย วางโรดแมป พัฒนาระบบการเงินช่วง 3 ปีข้างหน้า ชู “4 แนวทาง” รับมือการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการเงิน เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันเศรษฐกิจไทย มุ่งนำเทคโนโลยีช่วยภาคธุรกิจปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล

       นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “บทบาท 3 องค์กรภาคเอกชนและการทำงานร่วมกันใน กกร. เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ในงาน FTI Expo 2022 “Shaping Future Industries for Stronger Thailand” มหกรรมแสดงสินค้า และนวัตกรรมของอุตสาหกรรมไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ว่า  ภาคธุรกิจการเงินมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

    โดยมุ่งสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งการมีผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) ที่มีศักยภาพ และความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจากรายงาน FinTech in ASEAN 2021 พบว่า ในปี 2021 ประเทศไทยมีบริษัท ฟินเทครวมจำนวน 268 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 177 บริษัทในปี 2017

      ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล มีแนวทางจะปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินใหม่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตอย่างยั่งยืน  โดยส่งเสริมการแข่งขันผ่านการเปิดโอกาสให้ภาคการเงินใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และข้อมูล ภายใต้หลักการ 3 Open 

     ได้แก่ 1.Open Competition การแข่งขันที่เปิดกว้างทั้งการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ซึ่งอาจจะไม่ใช่ธนาคารให้สามารถเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรม รวมถึงเปิดให้  ผู้เล่นปัจจุบันสามารถปรับตัวเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่ได้ 

2.Open Infrastructure การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทั้งผู้เล่นใหม่ และผู้เล่นปัจจุบันให้เข้ามาใช้งานได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันและต่อยอดในเชิงนวัตกรรมได้      

            3.Open Data  ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปัน และโอนข้อมูลเช่น การสนับสนุนให้มีธนาคารออนไลน์ หรือ virtual bank เป็นต้น

    ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยได้วางแนวทาง (Roadmap) การพัฒนาระบบการเงินในช่วง 3 ปีข้างหน้า เพื่อรับมือความท้าทายและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก  โดยมุ่งเน้น 4  ด้าน ดังนี้

   1.Enabling Country Competitiveness  การเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจเพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ขึ้น โครงการที่สำคัญ

    เช่น โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business หรือ PromptBiz  เป็นการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า การชำระเงิน ข้อมูลผู้ให้บริการทางการเงิน และระบบภาษีของภาครัฐผ่านกระบวนการดิจิทัล  อีกโครงการคือ National Digital ID (NDID)หรือการยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัล และ ระบบ e-Signature หรือลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์  ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคล และความเสี่ยงทางไซเบอร์อย่างเข้มข้น

     ตลอดจนผลักดันการวางกรอบแนวทางสนับสนุน ระบบ Open Banking หรือการสร้างกลไกให้ผู้ใช้บริการทางการเงินในฐานะเจ้าของข้อมูลสามารถบริหารจัดการข้อมูลที่มีอยู่ที่ธนาคารต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกมากขึ้น

     ล่าสุด ภาคธนาคารได้เปิดตัวการให้บริการ d-Statement หรือการรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวก และลดต้นทุนของลูกค้า

    2. Regional Championing การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน และประชาชนสามารถทำกิจกรรมการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการชำระเงินของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย ต้นทุนต่ำ

    โดยสมาคมฯ จะเดินหน้าสนับสนุนการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลระหว่างกันในภูมิภาค รวมถึงสนับสนุนระบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง หรือ CBDC และต่อยอดสู่การชำระเงินระหว่างประเทศ  

    โดยมีโครงการที่สำคัญคือ โครงการ National Digital Trade Platform (NDTP) ร่วมกับ กกร. เพื่อปรับเปลี่ยนการทำธุรกรรมการค้าขายระหว่างประเทศสู่ระบบดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุน และระยะเวลา และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศ และเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น

     3.Sustainability ภาคธนาคารต้องดำเนินงาน และมีส่วนผลักดันให้การดำเนินงานของภาคเอกชนคำนึงถึงหลักการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนหรือ ESG โดยสมาคมฯ จะผลักดันให้ภาคธุรกิจปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และ BCG economy หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

    ซึ่งสมาคมฯ ร่วมกับ ธปท. พัฒนาแนวปฏิบัติการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

     นอกจากนี้ สมาคมฯ จะร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อนและหลังเป็นหนี้ โดยสนับสนุนการจัดทำศูนย์กลางข้อมูลเครดิตให้สมบูรณ์ รวบรวมข้อมูลเครดิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ ควบคู่กับการให้ความรู้ทางการเงิน และการเงินดิจิทัล  

     รวมถึงสร้างกลไกในการเพิ่มวินัยทางการเงิน และส่งเสริมการออมเงิน โดยเฉพาะการออมเผื่อเกษียณ นอกจากนี้ ยังมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้ประชาชน และภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น

      โดยสมาคมฯ จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น

     4.Human Capital  การพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะตอบโจทย์โลกอนาคต สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

    โดยสมาคมฯ จะเดินหน้าพัฒนาทักษะ (Up & Re-skill) พนักงานธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่มีอยู่กว่า 1.3 แสนราย ให้มีความรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น  โดยอาศัยแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ของสถาบันธนาคารไทย (Thai Banking Academy-TBAC)พร้อมยกระดับ TBAC ให้มีบทบาทเป็นศูนย์กลางระดับชาติด้านองค์ความรู้ และการวิจัยของอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อให้บุคลากรในอุตสาหกรรมการเงิน มีสมรรถนะที่สามารถตอบโจทย์โลกการเงินในยุคดิจิทัลตามมาตรฐานสากล นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจลูกค้ามากขึ้น สอดรับกับโมเดลธุรกิจของภาคธนาคารที่มุ่งสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง และเน้นความคล่องตัวอย่างเต็มรูปแบบ 

      สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเป็นการฟื้นตัวแบบ The New K-shaped Economy หรือ การฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึงในแต่ละอุตสาหกรรม  หลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุด

     แต่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระทบ ทั้งเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย-ยูเครน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก สภาพคล่องในตลาดเงินตลาดทุนลดลง และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งภายใต้การฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึงจะมีทั้งธุรกิจที่ยังเป็นขาขึ้น เช่น พลังงานสะอาด ยาเพื่อสุขภาพ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ที่มีศักยภาพจะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศได้ ถ้ามีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง 

     นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจที่เคยเป็นขาขึ้น แต่เริ่มแผ่วลง จากปัจจัยใหม่ที่เข้ามา เช่น ธุรกิจยานยนต์ เป็นต้น กลุ่มที่เคยเป็นขาลงจากมาตรการโควิด-19 แต่เริ่มดีขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยวและกลุ่มที่ยังเป็นขาลงต่อเนื่อง กลุ่มนี้แม้จะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 แต่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว เช่น  ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก  รถโดยสาร เพราะนักท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

     ทั้งนี้  การสนับสนุนให้ธุรกิจต่างๆ  ภายใต้ The New K-shaped Economy สามารถเติบโตไปได้ ต้องอาศัยมาตรการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ไม่ใช่มาตรการเดียวกันทั้งหมด

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์    ศิลาวงษ์