"TPIPP" ชูเทคโนโลยี เร่งดันสัดส่วนพลังงานสะอาด 100% ปี 69

"TPIPP" ชูเทคโนโลยี เร่งดันสัดส่วนพลังงานสะอาด 100% ปี 69

“TPIPP” เดินหน้าลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสู่การใช้เชื้อเพลิงขยะครบ 100% ตั้งเป้าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียว 100% ภายในปี 2569 ลดคาร์บอนจากการฝังกลบได้ 12 ล้านตันต่อปี

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กล่าวในงานสัมมนา “ส่องหุ้นไทย 2022 : ขับเคลื่อนธุรกิจรับอนาคต” ในหัวข้อ “พลิกเกมสู่ Tech Company รับโลกยุคใหม่” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า บริษัทจะใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อผลิตสินค้าให้ดีที่สุดเพื่อตอบโจทย์คนไทย และด้วยการที่บริษัทก้าวสู่ผู้นำผลิตไฟฟ้าจากอุตสาหกรรมขยะมาสู่พลังงานสะอาดที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตที่ 440 เมกะวัตต์ โดยที่เหลืออีก 220 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่ใช่พลังงานสะอาด

อย่างไรก็ตาม บริษัทอยู่ระหว่างปรับปรุงโรงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยเฟสที่ 1 จะแล้วเสร็จช่วงเดือนส.ค. 2565 และเฟส 2 จะแล้วเสร็จเดือนเม.ย.2566 และจะทยอยลงทุนราว 5,000 ล้านบาท ในการเลิกใช้ฟอสซิลมาผลิตไฟฟ้า และอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าร่วมประมูลโครงการโซลาร์ และโซลาร์ฟาร์มจากรัฐบาลอีก จะทำให้บริษัทมีกำลังผลิตที่ได้ตามเป้า

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) บริษัทสนใจลงทุนด้านสถานีชาร์จ ซึ่งภายหลังจากหารือกับพันธมิตรธุรกิจ มองว่าหากลงทุนในช่วงนี้อาจจะเร็วไป จึงคาดว่าอีก 1-2 ปี น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม แต่สิ่งที่จะดำเนินการคือ บริษัทแม่จะเริ่มปรับเปลี่ยนรถยนต์ที่วิ่งในเมืองโดยตั้งเป้าสิ้นปีนี้ไว้ที่ 26 คัน โดยปี 2525 จะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้น บริษัท จะผลิตไฟฟ้าให้กับบริษัทแม่ เพื่อใช้สำหรับชาร์จไฟให้กับรถอีวี เป็นต้น

“นโยบายเน็ตซีโร่ ที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าจะลดคาร์บอนได้ปีละ 115 ล้านตัน โดยปี 2526 บริษัท ถือไม่เหลือปริมาณคาร์บอนเลย โดยปัจจุบันการผลิตคาร์บอน 1.5 ล้านตันต่อปี บริษัทสามารถลดการเกิดก๊าซมีเทน สามารถลดปริมาณคาร์บอนได้ถึง 7.5 ล้านตันต่อปี ถือว่าเกินจำนวนเน็ตซีโร่แล้วที่ 6 ล้านตันต่อปี โดยปี 2526 ทั้งปี เราจะลดคาร์บอนได้ถึง 12 ล้านตันต่อปี”

สำหรับตัวเลขทางการเงินบริษัทถือว่าดำเนินการมาด้วยดีตลอด การนำขยะมาใช้ผลิตไฟฟ้าจะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ

1. รับขยะสด ซึ่งเป็นการรับมาฟรี ไม่มีต้นทุน

2. อาจมีต้นทุนนิดหน่อย โดยเอกชนที่ได้รับสัมปทานที่มีบ่อขยะได้มีการคัดแยก และส่งมาให้ และ

3. บ่อขยะ โดยบางบ่อไม่สามารถลงทุนเครื่องขัดแยกได้ บริษัทจะไปตั้งเครื่องคัดแยกให้ และได้ค่าเช่า และตามสัญญาเช่าทุกอย่างที่ออกจากเครื่องต้องส่งมาที่บริษัท การคืนทุนจึงไม่ถึงปี ถือว่าคุ้มสุด บริษัทพยายามเพิ่มสัดส่วนนี้ให้มากขึ้น

“ปัจจุบันเราได้รับขยะเฉลี่ย 8,500 ตันต่อวัน หรือคิดเป็น 2.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งช่วยลดคาร์บอนจากการฝังกลบได้ 5.8 ล้านตันต่อปี และภายในปี 2569 คาดว่าจะขยายการรับขยะเฉลี่ยต่อวันเพิ่มเป็น 17,000 ตัน”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์    ศิลาวงษ์