ออมสินขาย​ Social Bond มูลค่าสูงสุดของไทยถึง 1 หมื่นล้านบาท

ออมสินขาย​ Social Bond  มูลค่าสูงสุดของไทยถึง 1 หมื่นล้านบาท

ออมสินประสบความสำเร็จ เป็นแบงก์รัฐแห่งแรกที่ออกขาย Social Bond มูลค่าสูงสุดของไทยถึง 1 หมื่นล้านบาท ระดมทุนทำโครงการเพื่อสังคม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ​

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินมีการดำเนินงานตามกรอบแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (E - Environment) สังคม (S - Social) และธรรมาภิบาล (G - Governance) โดยเฉพาะในกระบวนการที่สำคัญของธนาคาร เพื่อนำพาองค์กร และสังคมมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามกระแสโลกในปัจจุบัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารออมสินได้ออก และเสนอขายหุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) ของธนาคาร วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดเท่าที่เคยออกในประเทศไทย เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปดำเนินการโครงการเพื่อสังคมต่างๆ เพื่อลดความเหลี่อมล้ำทางการเงิน และแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน ให้เข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเป็นธรรม ทั้งผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประสบภัย เพื่อพัฒนาชนบท และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น

ทั้งนี้ การออกขายหุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) ดังกล่าว ประสบความสำเร็จได้รับความสนใจ อย่างมากจากนักลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่มีนโยบายในความรับผิดชอบต่อสังคม และได้เข้าลงทุนจนเต็มวงเงินภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยธนาคารออมสิน ถือเป็นสถาบันการเงินของรัฐแห่งแรกที่มีความพร้อม และดำเนินการระดมทุนในรูปแบบดังกล่าว ที่เชื่อมโยงกับภารกิจธนาคารเพื่อสังคม ตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร

อนึ่ง หุ้นกู้เพื่อสังคม (Social Bond) ของธนาคารออมสิน วงเงิน 10,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.35% ต่อปี เสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ธนาคารออมสิน ที่ระดับ “AAA” แนวโน้ม “คงที่” ขณะที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคผ่านความร่วมมือระหว่างความริเริ่มด้านตลาดตราสารหนี้ของภูมิภาคอาเซียน (Asian Bond Markets Initiative – ABMI) และกองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility – ACGF) ซึ่ง ABMI เป็นความคิดริเริ่มของรัฐบาลต่างๆ ในประเทศอาเซียน รวมถึง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นที่ยั่งยืน ส่วน ACGF นั้น เป็นความคิดริเริ่มของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund) เพื่อเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์    ศิลาวงษ์