'บิ๊กเชนจ์'กานดาพร็อพเพอร์ตี้รุกคอนโด-เวลเนสร่วมทุนสตาร์ทอัพ

'บิ๊กเชนจ์'กานดาพร็อพเพอร์ตี้รุกคอนโด-เวลเนสร่วมทุนสตาร์ทอัพ

ผ่าโรดแมพบิ๊กเชนจ์ “กานดา พร็อพเพอร์ตี้ ”ในรอบ 3ทศวรรษจากตลาดแนวราบสู่คอนโดเพื่อขยายฐานลูกค้าพร้อมเร่งสร้างรายได้ประจำผ่านเวลเนสรองรับเมกะเทรนด์ และร่วมทุนสตาร์ทอัพ หนังสือออนไลน์ ,AI ,แอนิเมชั่นและไอทีซีเคียวริตี้

กว่า 3ทศวรรษของ “กานดา พร็อพเพอร์ตี้ ”ผ่านร้อนผ่านหนาวยืนหยัดต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจจนกลายเป็นแบรนด์อสังหาฯแนวราบที่เป็นรู้จักของลูกค้าในย่านพระราม2 ,รังสิต-ประชาอุทิศ จนมาถึงวันนี้ ส่งไม้ต่อให้“หัสกร บุญยัง”เจนเนอเรชั่น2  สานต่อธุรกิจ

"อิสระ บุญยัง"  กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด  ในฐานะผู้บุกเบิก เล่าว่า กานดา พร็อพเพอร์ตี้ เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยมานานกว่า 3 ทศวรรษ ผ่านวัฏจักรขึ้น-ลงของธุรกิจมาแล้วหลายรอบ โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ส่งผลให้บริษัทต้องฟื้นฟูกิจการอยู่นานหลายปี และถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ยึดถือมาเป็น บิสเนส โมเดล จนถึงทุกวันนี้คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องของความมั่นคงมากกว่าการเติบโตและเน้นการพึ่งพาตัวเอง

    “ 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาธุรกิจไปทีละขั้น เพราะบ้านเป็นสินค้าคงทนที่ใช้ได้นาน ชีวิตหนึ่งไม่ได้ซื้อได้หลายครั้ง เพื่อความรับผิดชอบต่อลูกค้า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด 4 เรื่องในการพัฒนาโครงการที่เรียกว่า 4 Kanda Concept ซึ่งเป็นเสมือนองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่สะสมมาจากการที่ได้มองเห็นปัญหาของการอยู่อาศัยในแง่มุมต่างๆ นำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาให้ดีขึ้น”
                       

4 Kanda Concept ประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก  ได้แก่ 

1. 3 Generation ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันของครอบครัวแบบไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2542 บ้านของบริษัททุกระดับราคาต้องมีห้องนอนชั้นล่าง โดยเฉพาะในทาวน์เฮ้าส์ ที่ต่อมาเกือบทุกบริษัทต้องออกแบบให้มีห้องนอนชั้นล่างด้วยเช่นกัน
2. Easy Maintenance เนื่องจากบ้านต้องอยู่ไปนานจึงต้องออกแบบให้ง่ายต่อการบำรุงรักษา เช่น การออกแบบห้องน้ำชั้นบนให้อยู่ส่วนหน้าของบ้านหรืออยู่ระเบียงข้างบ้านเมื่อถึงเวลาต้องซ่อมบำรุงจะได้ไม่ต้องเข้าไปซ่อมในบ้าน หรือการทำขอบกันน้ำที่หน้าต่างเพื่อเป็น Double Protect สำหรับบ้านทุกหลัง
3. Eco Smart การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้พลังงานในบ้านและพื้นที่สาธารณะ แต่ก็เน้นเรื่องความคุ้มค่าด้วย โดยใช้หลักการของ Reduce Reuse Recycle เช่น การหลอดไฟในบ้านและถนนโครงการเป็นหลอด LED การใช้กระจกเขียวตัดแสง ฝ้าเพดานใช้ยิบซั่มชนิดมีฟอยล์ ติดตั้งพัดลมระบายความร้อน
4. Flood Protection เพิ่มการป้องกันอุทกภัยในทุกโครงการ เช่น การให้ความสำคัญกับระดับถมดิน ระดับของตัวบ้าน การทำแนวรั้วที่มิดชิด ติดตั้งระบบสูบน้ำในโครงการ เป็นต้น ซึ่งทั้ง 4 เรื่องถือเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้อยู่อาศัย ต่อชุมชน และต่อสังคมด้วย
 

2 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากวิกฤติโควิด-19 สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย  เกิดปรากฏการณ์ 'นิวนอร์มอล' ต่อทุกธุรกิจ จึงเป็นที่มาของ  "Kanda Change" ทั้งในด้านของการส่งต่อการบริหารงานให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่คือ "หัสกร บุญยัง"ทายาทรุ่น2 วัย32  เข้ามาดูแล รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภคคนรุ่นใหม่มากขึ้น

'บิ๊กเชนจ์'กานดาพร็อพเพอร์ตี้รุกคอนโด-เวลเนสร่วมทุนสตาร์ทอัพ

"หัสกร บุญยัง"รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า  Kanda Change เป็นการสานต่อสิ่งที่ดีอยู่แล้ว พร้อมปรับเปลี่ยน กลยุทธ์  ผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เริ่มต้นจากยกเลิกการใช้หลายแบรนด์ (Multi Brand)เหลือแค่แบรนด์เดียว (Single Brand)เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเมื่อก่อนอาจจะมีหลายแบรนด์ เช่น Kanda Place, The First Home, Siam Natural Home แต่ในปัจจุบัน 20 โครงการของบริษัททั้งหมดจะใช้ชื่อโครงการเพียงชื่อเดียวคือ  "ileaf"

 โดยแบ่งระดับของโครงการ ประกอบด้วย
- ileaf town และ ileaf park เป็นโครงการระดับกลางระดับราคา 1.9-5 ล้านบาท
- ileaf proud และ ileaf prime เป็นโครงการระดับพรีเมี่ยม ระดับราคา 2-10 ล้านบาท
- ileaf prima เป็นโครงการรวมหลายโครงการอยู่ด้วยกันเป็น Community

หัสกร กล่าวว่า ในส่วนของการทำการตลาดรูปแบบของสื่อที่เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายโฆษณา หรือ สื่อออนไลน์จะคุมธีมให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ง่าย การออกแบบโครงการหรือรูปแบบบ้านก็จะมีธีมที่ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธีม Resort, California หรือ English Garden ที่จะนำมาใช้สำหรับโครงการที่เปิดขายในปีนี้ทั้งหมด

สำหรับช่องทางการตลาดบริษัทให้ความสำคัญกับ Online หรือ Digital Marketing มากขึ้น เป็นทั้งช่องทางในการโฆษณา และวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า ซึ่งตัวเลขของยอดการเข้าถึงสื่อ ตัวเลขของผู้เยี่ยมชม และจองโครงการ สะท้อนถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับต้นทุนการโฆษณา

“ในส่วนของ Product จะยังคงยึด 4 Kanda Concept เป็นหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยอาจจะมีปรับเปลี่ยนบางข้อ เช่น 3 Generation เป็น Multi Generation ให้ทันสมัยขึ้น และเพิ่มเติม Concept ที่ 5ขึ้นมาในช่วงโควิด คือ การเพิ่มฟังก์ชั่นพื้นที่(Space Matter) ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญในการออกแบบทุกพื้นที่ใช้สอยในตัวบ้าน ล่าสุดเปิดตัวทาวน์โฮม 4 ห้องนอนที่มีสวนส่วนตัว และมีห้องน้ำส่วนตัวทุกห้องขึ้นมาในโครงการไอลีฟ ไพร์ม ลำลูกกา คลอง 2 ที่สะท้อนถึงแนวคิด Space Matter”

'บิ๊กเชนจ์'กานดาพร็อพเพอร์ตี้รุกคอนโด-เวลเนสร่วมทุนสตาร์ทอัพ

กลยุทธ์การเติบโตของบริษัทยังคงเน้นการเติบโต คือการขยายทำเลเพื่อขยายฐานลูกค้า โดยแผนตั้งแต่ปี 2560-2566 บริษัทตั้งเป้าที่จะขยายทำเลให้ได้อย่างน้อยปีละ 1-2 ทำเล

สำหรับในปี 2565 บริษัทเตรียมเปิดโครงการบนทำเลใหม่ในช่วงปลายปี ได้แก่ โซน รามอินทรา-คู้บอน ส่วนในปี 2566 บริษัทมีทำเลใหม่ที่เตรียมไว้เปิดโครงการใหม่แล้วอย่างน้อย 1 ทำเล ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อที่ดิน

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะแตกไลน์ธุรกิจขยายพอร์ตคอนโด โดยการสร้างคอนโดระดับกลางบนที่มีราคาตั้งแต่2 ล้านบาทขึ้นไป ในจ.ภูเก็ตติดกับห้างเซ็นทรัล มีพื้นที่7-8ไร่  ในกรุงเทพฯอีก2แห่งย่านพระราม7 มีพื้นที่ 1 ไร่และ ย่านราชพฤกษ์ มีพื้นที่3-4ไร่  รวมทั้งการทำเวลเนสที่จ.ภูเก็ตบนพื้นที่25ไร่ใกล้กับคาเฟ่“มาดูบัว”เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่จากเดิมทำโครงการแนวราบเป็นหลัก

นอกจากนี้มีการร่วมทุนและสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านหนังสือออนไลน์ ,AI ,แอนิเมชั่นและไอทีซีเคียวริตี้  เพื่อรองรับเทรนด์อนาคต  คาดว่า ภายใน3-5ปีต่อจากนี้จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจรีเคอร์ริ่งอินคัม10%จากปัจจุบันที่มีอยู่ 0.5%จากการให้เช่าที่ดินและตึกแถว

หัสกร กล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่เป็นที่อยู่อาศัยแนวราบรวม 6 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 4,700 ล้านบาท มีทั้งการเปิดโครงการในทำเลเดิม และขยายไปในทำเลใหม่ๆ รวมทั้งการเปิดแบรนด์ใหม่ในกลุ่มทาวน์เฮ้าส์ระดับกลาง-กลางบน เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุม และขยายฐานการสร้างรายได้ให้กว้างขึ้น

สำหรับโครงการใหม่ที่เปิดขายในปี 2565 ประกอบด้วย โครงการไอลีฟ ไพร์ม ลำลูกกา คลอง 2 โครงการไอลีฟ ไพร์ม 2 ประชาอุทิศ 90 โครงการไอลีฟ พราวด์ พระราม 2 กม.14 โครงการไอลีฟ พราวด์ วงแหวน-รังสิต คลอง 4 ซึ่งเป็นทาวน์โฮมแบรนด์ใหม่ ระดับราคา 2-3 ล้านบาท รวมทั้งการเปิดโครงการในทำเลใหม่อีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการไอลีฟ ไพร์ม รามอินทรา-คู้บอน และโครงการไอลีฟ ไพร์ม พัทยา-จอมเทียน จ.ชลบุรี

“ในปี 2565 บริษัทจะมีทั้งโครงการใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการขายรวม 17 โครงการ ใน 10 ทำเล ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาค โดยได้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 3,300 ล้านบาท และเป้ารายได้อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท”

ในช่วงครึ่งปีแรกถือว่าเป็นไปตามเป้า มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ 1,000 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีหลัง คาดว่าจะทำได้ตามเป้าทั้งปีตั้งไว้ที่ 3,300 ล้านบาท ส่วนยอดรับรู้รายได้คาดว่าจะทำได้2,200 ล้านบาท ตกจากเป้าที่ตั้งไว้เล็กน้อย เนื่องจากความล่าช้าในการปรับปรุงรูปแบบบ้าน อย่างไรก็ตามยอดโอนถือว่า ยังคงเติบโตจากปี 2564 ประมาณ 10%