การบริหารจัดการวัดในประเทศไทย ยุค Digital Disruption (3)

การบริหารจัดการวัดในประเทศไทย ยุค Digital Disruption (3)

การบริหารจัดการวัดในประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากเจ้าอาวาสและไวยาวัจกรจะมีบทบาทที่สำคัญ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้จึงมีความสำคัญมาก และต้องมีระบบการจัดการที่ทันสมัย

วัดทุกแห่งจะมีเสนาสนะและอาคารวัตถุต่าง ๆ รวมทั้งที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งวัดเรียกว่าธรณีสงฆ์ แบ่งเป็นเขตพุทธาวาส ได้แก่ บริเวณที่ตั้งอุโบสถ วิหาร เขตสังฆาวาส ได้แก่ กุฎิที่พักสงฆ์ อาคารปฎิบัติธรรม อาคารที่บำเพ็ญกุศลต่าง ๆ ของพุทธศาสนิกชน เขตศาสนสงเคราะห์ ได้แก่โรงเรียน โรงเรียนพระปริยัติธรรม อาคาร ฌาปนสถาน ต่าง ๆ บางวัดมีที่ดินที่ได้รับบริจาคเป็นจำนวนมาก ก็จะมีการกันที่ดินให้เป็นที่จัดประโยชน์ โดยเฉพาะวัดที่ตั้งอยู่ตามชุมชนใหญ่ ๆ ที่เป็นชุมชนเศรษฐกิจ โดยจะกระทำได้เมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบ และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการวัด คือเจ้าอาวาส ที่มีอำนาจและดูแลศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี รวมถึงไวยาวัจกร ซึ่งตามกฎหมาย คือคฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่ เบิกจ่ายนิตยภัต และมีอำนาจดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ และกำหนดให้ไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย วัดหนึ่งอาจมีไวยาวัจกรได้หลายคน ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 18(พ.ศ.2536) กำหนดคุณสมบัติของไวยาวัจกร เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาส เพราะจะต้องมีการติดต่อประสานงานกับราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน มีหน้าที่ต้อง เก็บรักษา และเบิกจ่ายเงินของวัดเป็นจำนวนมาก

จากงานวิจัยของ คุณเรืองฤทธิ์ ประสันรักษ์ ในปี พ.ศ. 2539 เรื่อง “รายรับรายจ่ายของวัดไทยในเขตกรุงเทพมหานคร” พบว่า รายได้ของวัดส่วนใหญ่มาจากการับบริจาคทำบุญก่อสร้างเสนาสนะ และบูรณะปฏิสังขรณ์ มากที่สุด คือ มีรายได้เฉลี่ยต่อปีต่ำสุด 30,000 บาทสูงสุด 6,300,000 บาท มีผู้บริจาคมากที่สุดอยู่ระหว่าง 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท งานพิเศษอื่น ๆ รายได้ของวัดโดยเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 120,000 บาท ถึง 550,000 บาท ขณะที่ฌาปนสถานมีรายได้อยู่ที่ 5,000 บาท ถึง 900,000 บาทต่อปี รายได้จาก็ที่จอดรถและให้เช่าที่ต่ำสุด 10,000 บาท และสูงสุด 540,000 บาท และ 1,500,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการให้เช่าวัตถุมงคล รายได้ของมูลนิธิ รายได้ที่รัฐสนับสนุน และรายได้อื่น ๆ ต่ำสุด 10,000 บาท สูงสุด 15,800,000 บาท ขณะที่ดอกผลมูลนิธิต่ำสุดเฉลี่ย 10,000 บาท สูงสุด 5,084,366 บาทต่อปี

รายจ่ายของวัดส่วนใหญ่จะใช้ในการก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์มากกว่าการศึกษา โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1,000,000 บาท ถึง 6,500,000 บาท ขณะที่งานด้านการศึกษา มีรายจ่ายเพียงร้อยละ 7.6 เท่านั้น 

รายรับรายจ่ายที่นำเสนอ เป็นข้อมูลเฉพาะวัดในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น และเป็นข้อมูลที่ผ่านมาเกือบ 30 ปี ถ้าเป็นข้อมูลจากตัวเลขของวัดทั่วประเทศ และขนาดเศรษฐกิจปัจจุบัน รายรับรายจ่ายของวัดจะมีจำนวนมหาศาลมากครับ เพราะปัจจุบันวัดหลายแห่งมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่แหลมคม และมีวัดที่มีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก

การบริหารจัดการวัดในประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากเจ้าอาวาสและไวยาวัจกรจะมีบทบาทที่สำคัญ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้จึงมีความสำคัญมาก และต้องมีระบบการจัดการที่ทันสมัย……