ถอดรหัส ‘สมช.’รับวิกฤติอาหาร-พลังงาน เตรียมความพร้อมก่อนเผชิญเหตุฉุกเฉิน

ถอดรหัส ‘สมช.’รับวิกฤติอาหาร-พลังงาน  เตรียมความพร้อมก่อนเผชิญเหตุฉุกเฉิน

หลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชนชุดใหม่ มีการประเมินถึงสถานการณ์ที่อาจจะยืดเยื้อ และมีความเสี่ยงเรื่องของวิกฤติอาหาร และวิกฤติพลังงาน โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้สมช.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนรองรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น

สงครามความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาทำให้เกิดวิกฤติต่อเนื่องในเรื่องของพลังงาน และอาหารเนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานทั้งก๊าซและน้ำมันรายใหญ่ ขณะเดียวกันทั้งยูเครนและรัสเซียก็เป็นประเทศที่ผลิตอาหาร รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด

เมื่อทั้งสองประเทศทำสงครามกันก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้างเช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดหลังจากที่ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชนชุดใหม่ รัฐบาลได้มีการประเมินถึงสถานการณ์ที่อาจจะยืดเยื้อต่อไป และทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวใน 2 ส่วนที่ต้องมีแผนรองรับในระยะยาวคือเรื่องของวิกฤติอาหาร และวิกฤติพลังงาน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนรองรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้น

การมอบหมายให้ สมช.เป็นหน่วยงานหลักในการทำแผนรองรับทั้งสองเรื่องดังกล่าวก่อให้เกิดคำถามตามมาหลายอย่างว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้ สมช.เข้ามาดำเนินการในการจัดทำแผนรองรับฯทั้งในเรื่องของอาหารและพลังงานมีกระทรวงที่รับผิดชอบ และมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สามารถตัดสินใจและสั่งการในการแก้ปัญหาต่างๆได้ในระดับหนึ่ง

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ นายปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ของนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา สมช.เกี่ยวกับการใช้กลไกของสภาความมั่นคงแห่งชาติในการทำแผนรองรับวิกฤติพลังงาน และอาหารว่าการที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจใช้กลไกของ สมช.ในการเข้ามาช่วยในเรื่องของการรับมือกับวิกฤติพลังงาน และวิกฤติอาหารในขณะนี้ถือว่าเป็นกลไกที่มีความเหมาะสมสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ปัจจุบัน

เพราะทั้งเรื่องของพลังงาน และอาหารถือว่าเป็นความมั่นคงของประเทศที่รัฐบาลต้องดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความขาดแคลน หรือราคาสูงเกินไปจนกระทบกับการใช้ประชาชน และเศรษฐกิจในภาพรวม

ทั้งนี้ในมิติของความมั่นคงในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่เรื่องของการทหาร หรือการสงครามเท่านั้นแต่ความมั่นคงในปัจจุบันมีนิยามที่กว้างมากทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และเรื่องอื่นๆ ดังนั้นองค์ประกอบของ สมช.ไม่ได้มีแค่เพียงทหารและหน่วยงานความมั่นคง แต่มีกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจอยู่ใน สมช.ด้วย

นอกจากนั้น สมช.สามารถใช้อำนาจได้เมื่อพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากเรื่องต่างๆกระทบกับความมั่นคงของประเทศ จากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เช่น เรื่องอาหารขาดแคลน อาจจะนำไปสู่จลาจลภายในประเทศ หรือในเรื่องของการขาดแคลนพลังงานอาจจะนำไปสู่ปัญหาไฟดับเป็นวงกว้างกระทบทั้งประชาชน และภาคธุรกิจได้ สมช.ยังมีอำนาจ และเครื่องมือหลายส่วนที่จะใช้ดูแลสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นได้

โดยขั้นตอนการบังคับใช้คำสั่งของ สมช.โดยเริ่มจากการขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และออกเป็นกฎหมายบังคับให้ปฏิบัติติตาม โดยในปัจจุบันสหภาพยุโรปบางประเทศก็มีการใช้กลไกของสภาความมั่นคงแห่งชาติเข้ามาดูแลวิกฤติด้านอาหารและพลังงานเช่นกัน

ในประเด็นทางข้อกฎหมายที่ สมช.มีอำนาจใช้ได้จะขึ้นกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นของสถานการณ์ ตั้งแต่การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่สมช.สามารถกำหนดพื้นที่เฉพาะ หรือสินค้าที่จำเป็นว่าไม่ให้มีการกักตุนสินค้า หรือขายสินค้าโดยมุ่งหวังกำไรที่สูงเกินไปในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

โดยวิธีนี้รัฐบาลต้องรายงานให้สภาฯรับทราบ และทำแผนการรองรับอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและใช้ในเวลาที่จำกัด โดยสมช.จะส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอให้รายงายความคืบหน้าทุกๆ 15 วัน

 

จากนั้นหากสถานการณ์รุนแรงขึ้น สมช.ก็สามารถที่จะเสนอให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้เมื่อเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น รวมไปถึงยกระดับประกาศเป็นกฎอัยการศึกได้หากสถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกซึ่ง สมช.มีอำนาจในส่วนนี้อยู่

รวมทั้งสามารถที่จะตั้งเสนอให้ตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามสถานการณ์ต่างๆตั้งแต่ในช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤติขึ้นจริงเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม อย่างไรก็ตามในการตั้งวอร์รูมลักษณะนี้นายกรัฐมนตรีควรจะเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านอาหารและพลังงานมานั่งอยู่ในวอร์รูมนี้และรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนในวงกว้าง และกำหนดสินค้าและพื้นที่ที่จะควบคุมเพื่อไม่ให้สถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น

 

“ข้อดีของ สมช.ก็คือสามารถที่จะตัดสินชี้ขาดได้ว่าในบางเรื่องที่กระทรวงมีความเห็นไม่ตรงกันว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของใครในการแก้ไขปัญหากันแน่ เช่นเรื่องของโรงกลั่น มีการโยนกันไปกันมาระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดที่จะใช้กฎหมายที่ทำให้ค่าการกลั่นลดลง ดึงกำไรจากบางส่วนมาเข้ากองทนุนน้ำมันฯ

ซึ่งในลักษณะแบบนี้ สมช.สามารถชี้ขาดได้แล้วให้ไปดำเนินการตามคำสั่ง จากนั้น สมช.ก็จะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้เป็นระยะๆซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นรูปธรรม” นายปณิธานกล่าว