กนง.ชี้ ‘ขึ้นดอกเบี้ย’ ต้องเริ่มในเวลาที่เหมาะสม-ทันการณ์-ค่อยเป็นค่อยไป

กนง.ชี้ ‘ขึ้นดอกเบี้ย’ ต้องเริ่มในเวลาที่เหมาะสม-ทันการณ์-ค่อยเป็นค่อยไป

กนง.มองว่านโยบายการเงิน ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างการฟื้นตัวของ “เศรษฐกิจ” การดูแล “เงินเฟ้อ” และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินอย่างรอบด้าน ชี้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ควรเริ่มในช่วงเวลาที่เหมาะสม และทันการณ์ เพื่อสามารถดำเนินนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป

    เปิดรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565  เสียงแตก 4 ต่อ 3 เสียง  คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี

     โดยกรรมการ 4 ท่าน เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด โดยจะติดตามพัฒนาการ ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด และเห็นควรให้เริ่ม “สื่อสารทิศทางนโยบาย การเงินอย่างชัดเจนต่อสาธารณชน”ในครั้งนี้

       ขณะที่ 3 เสียง เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เนื่องจาก คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และมีโอกาสฟื้นตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ จากอุปสงค์ในประเทศ และแรงส่งจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ ความเสี่ยงด้าน “เงินเฟ้อ” มีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

   อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ มองว่า ประเด็นด้าน “เงินเฟ้อ” ทั่วไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน และการส่งผ่าน ต้นทุนที่มาก และนานกว่าคาด

     โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี โดยประมาณการเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ 6.2% “จึงต้องติดตามพัฒนาการเงินเฟ้อ และการส่งผ่านต้นทุนในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด”แม้จะมองว่าเงินเฟ้อจะสามารถกลับสู่กรอบเป้าหมายได้ในปี 2566

     การประชุมครั้งนี้ กนง.มองว่า “น้ำหนัก” ของความเสี่ยง (balance of risks) ในการตัดสินนโยบายการเงิน เริ่มเปลี่ยนไปจากการประเมินครั้งที่แล้ว โดยน้ำหนักความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจปรับลดลง ขณะที่ น้ำหนักความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น

        จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง และควรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่น และคล่องตัวในการดำเนินนโยบายการเงินที่ทันการณ์ รวมทั้งควรสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) เพื่อรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

     นอกจากนี้ กนง.ยังมองว่านโยบายการเงิน ต้องชั่งน้ำหนัก (trade-off) ระหว่างการฟื้นตัวของ “เศรษฐกิจ” การดูแล “เงินเฟ้อ” และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินอย่างรอบด้าน

     อย่างไรก็ตาม กนง.มองอย่างสอดคล้องกันว่า 1. หากอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้รายได้ที่แท้จริงของภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนปรับลดลง โดยกำลังซื้อที่ถู ลดทอนลงอาจกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

     นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องอาจส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะ ข้างหน้า จนกระทบกลไกการปรับขึ้นราคาสินค้า และบริการ รวมถึงค่าจ้างได้ ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ต่ำเป็นไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะหากทัศนคติเกี่ยวกับเงินเฟ้อหรือ inflation psychology เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

    2. ภายใต้ภาวะที่เงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช้าเกินไปอาจ ก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับ ปัจจุบัน ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง และเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับลดลง และเปรียบเสมือนการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นโดยปริยาย

       อาจสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มเติมได้ และหากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องจนไม่สามารถยึดเหนี่ยว การคาดการณ์เงินเฟ้อของธุรกิจ และประชาชนได้ อาจต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแรงขึ้นในภายหลังเพื่อดูแลเงินเฟ้อซึ่งเป็นกรณีที่ไม่พึงประสงค์ เพราะรายได้ ค่าครองชีพ และภาระหนี้ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจจะถูกกระทบมากยิ่งกว่า

ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงควรเริ่มในช่วงเวลาที่เหมาะสม และทันการณ์ เพื่อสามารถดำเนินนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป

    3. การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเอื้อให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่น จะส่งผลกระทบอย่างจำกัด ต่อเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว การฟื้นตัวของรายได้จะช่วยให้ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ สามารถรองรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะเพิ่มต้นทุนต่อ ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนโดยรวมไม่มากนัก ซึ่งน้อยกว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อหลายเท่า

    อย่างไรก็ดี สำหรับภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ยังเปราะบางโดยรายได้ยังฟื้น ตัวไม่เต็มที่ และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง อาจมีความอ่อนไหวต่อภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่ม รายได้สูง

     คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรดำเนินมาตรการเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางดังกล่าว เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาจปรับให้เหมาะสมตามช่องทาง เช่น ธนาคารพาณิชย์ และธนาคาร เฉพาะกิจของรัฐ

    ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิผล มากกว่านโยบายการเงินที่เป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง (blunt tool)
 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์