กองทุนเสถียรภาพสหกรณ์ ดึงกำไรแสนล้านป้องทุจริต

กองทุนเสถียรภาพสหกรณ์ ดึงกำไรแสนล้านป้องทุจริต

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เล็งดึงกำไร สหกรณ์ 1 % ตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพ จาก 1.09 แสนล้านบาท รองรับการทุจริต พร้อมหนุนสมาชิก 90 %ใช้แอพลิเคชั่นตรวจสอบ ขณะสินทรัพย์ปี 64 พุ่งแตะ 3.58 ล้านบาท หนี้18,000 ล้านบาท

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยในการเสวนา เรื่อง “ สหกรณ์เขาทุจริตกันอย่างไร? แนวทางแก้ไขปัญหา ” ว่า จากการตรวจสอบบัญชี สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 64 พบว่าสหกรณ์ทั่วประเทศ มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 3.58 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2 แสนล้านบาท จากสมาชิกรวม 12 ล้านคน โดยปี64มีสมาชิกเพิ่ม 4 แสนคน

 ซึ่งสหกรณ์ของไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเพราะสหกรณ์เป็นลัทธิทางศก. ไม่ใช่ทุนนิยม เนื่องจากเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เป็นระบบช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่สมาชิก ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยสมาชิกที่มีความหลากหลายทางอาชีพอยู่ในระบบ แต่การดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งสินทรัพย์จำนวน 3.58 ล้านล้านบาทนั้นมากกว่างบประมาณของประเทศที่มี 3.18 ล้านล้านบาท

 

กองทุนเสถียรภาพสหกรณ์ ดึงกำไรแสนล้านป้องทุจริต

“ ในการทำงานกับเงินทองนั้นไม่เข้าใครออกใคร จึงไม่แปลกที่จะมีการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่ง การทุจริต 80 % มาจากกรรมการสหกรณ์ 15 % มาจากเจ้าหน้าที่สหกรณ์ และ 5 % มาจากสมาชิก แต่ถ้ามีคุณธรรมจริยธรรม ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด ที่ผ่านมาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริต มีกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันสามารถติดตามแก้ปัญหาและชดใช้ ไปแล้ว โดยยอดหนี้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 65 เหลือทั้งสิ้น 18,333 ล้านบาท จากสหกรณ์ที่เสียหาย 252 แห่ง ในจำนวนนี้ สหกรณ์ 1 แห่งที่มีหนี้สูงสุดถึง 1.2 หมื่นล้านบาท “

 

สหกรณ์ที่มีปัญหาทุจริตเหล่านี้ เทียบกับสหกรณ์ทั้งหมดมี7,900 แห่ง คิดเป็นอัตราไม่ถึง 1 % ของจำนวนสหกรณ์ และความเสียหายที่เกิดขึ้น 18,333 ล้านบาท นั้นคิดเป็นอัตราไม่ถึง 0.5 % ถือว่าน้อยมาก แต่การทุจริตของสหกรณ์เป็นที่สนใจของสังคมรวมทั้งฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการเห็นความมั่นคง เพื่อที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องหาแนวทางป้องกันการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นอีก

  กองทุนเสถียรภาพสหกรณ์ ดึงกำไรแสนล้านป้องทุจริต

ทั้งนี้การทุจริตที่เกิดขึ้นเกิดจากความหละหลวม โดยที่เห็นบ่อยมากคือ ทุจริตเงินฝากในบัญชีที่ไม่มีความเคลื่อนไหว เนื่องจากสมาชิกไว้ใจเจ้าหน้าที่ เบิกดอกเบี้ยแต่ไม่เคยตรวจสอบบัญชี แม้จะเห็นตัวเลขสมุดบัญชีหรือสมุดคู่ฝาก แต่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตกแต่ง ถอนเงินออกไปใช้ เนื่องจากมีข้อมูลของสมาชิกแต่ละคนเป็นอย่างดี โดยส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตจะเป็นผู้จัดการสหกรณ์ และฝ่ายการเงิน การทุจริตลักษณะดังกล่าว คณะกรรมการต้องตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบทานเงินฝาก แล้วแจ้งสมาชิก ไม่ควรแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ภายในเป็นกรรมการ เพราะจะนำบัญชีปลอมมามาสอบทาน

 

 

การตรวจสอบยังพบการทุจริตเงินกู้ โดยการลงลายมือชื่อเป็นเท็จ สมาชิกไม่ได้กู้จริง แต่ฝ่ายจัดการสหกรณ์ทำเอง กรณีนี้จะเกิดขึ้นจากหลายคนร่วมทุจริตทั้งผู้จัดการ ฝ่ายสินเชื่อ บางสหกรณ์ โยนบาปให้คณะกรรมการเป็นผู้ผิด สวมรายการให้เซ็นอนุมัติ แล้วเอาเงินกู้สมาชิก

 

นอกจากนี้ยังมีการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งเกิดขึ้นเยอะมาก โดยคณะกรรมการจะตั้งโครงการขึ้นมา แล้วเบิกจ่ายค่ารถ ค่าเดินทาง ที่ร้ายแรงคือการร่วมกับสมาชิกทุจริต โดยการตั้งโครงการซื้อที่ดิน ที่ไม่มีมูลค่ามาแบ่งขายกับสมาชิก ตั้งวงเงินค้ำประกันสูงกว่ามูลค่าสินทรัพย์ เป็นต้น การตั้งแชร์ลอตเตอรี่ ขายตั๋วปุ๋ยแต่ไม่ได้ปุ๋ย

ทั้งหมดนี้มีแนวทางป้องกันโดยทุกโครงการต้องผ่านความเห็นชอบจากการประชุมใหญ่ แล้วตั้งงบประมาณให้ใช้จ่ายได้ไม่เกินรายรับที่มี แต่ที่ผ่านมาสมาชิกละเลย กรมส่งเสริมสหกรณ์และรัฐบาลตระหนักถึงปัญหานี้ ปัจจุบันจึงใช้วิธีการติดตามยึดทรัพย์ และตั้งกรรมการย่อย เพื่อดูแลการปล่อยกู้ของสหกรณ์

อย่างไรก็ตามเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้พรบ.สหกรณ์ฉบับแก้ไขปรับปรุง มีแนวคิดจะให้ตั้งกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพสหกรณ์ โดยนำเงินจากกำไรของสหกรณ์ อัตรา 1 % มารวมกันไว้ แล้วตั้งกลไกการดูแลที่รัดกุม เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาสหกรณ์กรณีมีการทุจริตเกิดขึ้น

“ สหกรณ์ได้รับการยกเว้นภาษีต่างๆ มากถึง 23 % ต่อปี ดังนั้นการดึงกำไรมาเพียง 1 % เพื่อตั้งกองทุนไม่น่าจะส่งผลกระทบ โดยการจัดตั้งจะใช้ระยะเวลาในช่วง 3- 5 ปี การนำไปใช้จะต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับระบบสหกรณ์ ว่าจะไม่มีผู้ไดรับความเสียหาย “

 

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมสหกรณ์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลสหกรณ์กรณีส่อว่าจะเกิดปัญหาในทันที พร้อมกับผู้สอบบัญชีที่ได้มาตรฐาน แล้วสร้างกลไกการดูแลระบบสหกรณ์ ซึ่งสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือสหกรณ์ควรทำบัญชีทุกวัน ตามโปรแกรมของกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ เพื่อแสดงงบการเงินจะแสดงได้ทุกวัน

นอกจากนี้สมาชิกเองต้องมีการตรวจสอบการเคลื่อนไหวของบัญชีด้วย ซึ่งในปี 65 กรมฯส่งเสริมให้สหกรณ์ออมทรัพย์ ใช้ Mobile Application ปัจจุบันเปิดใช้แล้ว 390 แห่ง จาก 1,400 แห่ง ในขณะที่สหกรณ์ทุกจังหวัด ต้องหารือทำความเข้าใจนำประโยชน์ให้ใช้กับสมาชิกใช้ Applicationให้ได้อย่างน้อย 50 % จากเป้าหมายสูงสุด 90 % ทั้งหมดนี้คาดว่าจะเป็นกลไกที่ช่วยลดการทุจริตได้

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทุจริต ไม่ได้ทำวันเดียวในองค์กรจะค่อยๆทำ สมาชิกสามารถสังเกตได้กรณีที่กรรมการบางรายมีการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ใช้งบประมาณจำนวนมาก และแจกโบนัส ทั้งหมดนี้สามารถใช้สิทธิของสมาชิกในการตรวจสอบได้ และฟ้องร้อง แต่ที่ผ่านมาสมาชิกไม่กล้าฟ้อง