โรงกลั่นเครือ "ปตท." พร้อมหั่นกำไรช่วยชาติ ยันเดินหน้าธุรกิจแนวคิด ESG

โรงกลั่นเครือ "ปตท." พร้อมหั่นกำไรช่วยชาติ ยันเดินหน้าธุรกิจแนวคิด ESG

โรงกลั่นเครือปตท. พร้อมหั่นกำไรช่วยชาติ อุ้มภาระประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้ตัวเลขที่เหมาะสม แนะ ทั่วโลกช่วยประหยัดน้ำมันเพียง 5% เมื่อความต้องการใช้งานลดลง กดราคาน้ำมันจะถูก ยืนยันดำเนินธุรกิจตามแนวคิด ESG

แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ให้นำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล การจัดเก็บค่าการกลั่นน้ำมันเบนซิน โรงแยกก๊าซ เพื่อเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ตัวเลขการคำนวณค่าการกลั่นที่มีข่าวออกมาลิตรละ 8 บาท มองว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป และไม่น่าใช่ตัวเลขที่แท้จริง น่าจะเป็นการเอาเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินกับดีเซลสิงคโปร์ที่มีราคาสูงมาลบเลย แต่จริงๆ แล้วควรเอาทุกตัวมาหักลบ อาทิ น้ำมันเตา หรือก๊าซLPG ที่มีราคาถูกมาก ดังนั้น จึงเอาทุกตัวมาเฉลี่ย เช่น เมื่อมีการกลั่นน้ำมัน 1 ลิตร อาจได้เบนซิน 30% ดีเซล 20% น้ำมันเตา ฯลฯ เป็นต้น 
อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นของกลุ่มปตท. ยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ภายใต้ตัวเลขที่เหมาะสม ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่มีการคำนวณในระดับ 8 บาทแน่นอน โรงกลั่นในกลุ่มปตท.อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีการแจ้งตัวเลขไปแล้วช่วงไตรมาส1/2565 อีกทั้ง แต่ละโรงกลั่นจะมีราคาค่ากลั่นไม่เท่ากัน ประกอบด้วย 1. น้ำมันดิบที่ใช้ไม่เหมือนกัน 2. เมื่อเข้าโรงกลั่นแล้วแต่ละการกลั่นก็มีประสิทธิภาพไม่เหมือนกัน ดังนั้น จะได้น้ำมันเบนซิน หรือดีเซลในสัดส่วนที่ไม่เท่ากันด้วย 
นอกจากนี้ โรงกลั่นเองก็ซื้อน้ำมันดิบเข้ามาในราคาสูง จึงต้องบริหารจัดการให้ดี ถ้าบริหารจัดการไม่ดีจะกระทบกับกระแสเงินสดได้ ดังนั้น อะไรที่พอจะช่วยกันได้เพื่อสร้างสมดุลร่วมกัน เพราะผู้ถือหุ้นเองก็มีส่วนได้ส่วนเสีย ยกตัวอย่าง ช่วงขาดทุนก็ไม่มีใครช่วยเหลือ ส่วนกำไรในช่วงที่มีมากขึ้นจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างไร ก็ต้องมาคุยกัน ตัวเลขที่ออกมาก็ต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ประเมิณราคาน้ำมันตลาดโลกจะยังสูงในระดับกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปอีกระยะ ซึ่งจะต้องดูสถานการณ์อีกครั้ง

“มีการเอาราคาน้ำมันดิบช่วงที่ราคาต่ำสุดมาเปรียบเทียบกับช่วงที่มีราคาสูงสุด ดังนั้น จึงอยากให้ดูว่าตอนที่ราคาต่ำสุดโรงกลั่นก็ขาดทุนมหาศาล จึงขอให้นำข้อมูลที่แท้จริงและครบด้านมาคำนวณ เพราะโรงกลั่น 1 โรง กำไรมีทั้งขึ้นและลง เช่น ช่วง 3 ปีที่แล้วก็ขาดทุน ดังนั้น เอาตัวเลขเฉพาะช่วงมีกำไรมาเปรียบเทียบก็ไม่เป็นธรรม ยืนยันว่ากลุ่มปตท.ช่วยได้ในตัวเลขที่เหมาะสมควบคู่กับดูแลความเดือดร้อนของประชาชนตามนโยบายการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG)” แหล่งข่าว กล่าว  
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ราคาพลังงานในประเทศไทยหรือทั่วโลกถูกลง คือ การประหยัด เมื่อความต้องการใช้พลังงานของโลกลดลง จะเห็นได้จากช่วงเกิดโควิด-19 ปริมาณการใช้น้ำมันลดลงเริ่มระดับ 1 ล้านบาร์เรลต้นๆ ต่อวัน แต่ปัจจุบันความต้องการสูงขึ้นในระดับ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง ความกังวลของปริมาณน้ำมันรัสเซียที่หายไป 2-3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น หากทั่วโลกประหยัด 5% จะคิดเป็น 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือว่ามากกว่าปริมาณน้ำมันจากรัสเซียที่หายไป จะส่งผลดี คือ น้ำมันทั่วโลกล้นตลาด ราคาจะตกเอง 
สำหรับมุมมองต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่ก็ยังต้องระวังในเรื่องของเงินเฟ้อ และ ดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งในเรื่องของดอกเบี้ยหากดูจากผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด ก็จะเห็นถึงสัญญาณเรื่องดอกเบี้ยของประเทศ โดยประเด็นดังกล่าวนี้ต้องระวัง เพราะหากความดอกเบี้ยในประเทศกับต่างประเทศห่างกันมากเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องเงินทุนไหลออกได้