‘โฮปเวลล์’ เตรียมลุยฟ้องอาญาภาครัฐ ยันจัดตั้งบริษัทถูกกฎหมาย

‘โฮปเวลล์’ เตรียมลุยฟ้องอาญาภาครัฐ ยันจัดตั้งบริษัทถูกกฎหมาย

‘โฮปเวลล์’ เตรียมลุยฟ้องอาญาภาครัฐ ปมสร้างความเสียหายแก่บริษัท ยันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทถูกต้องตามกฎหมาย รฟท.อนุมัติเมื่อปี 2533 ชี้มูลหนี้และดอกเบี้ยปัจจุบันเดินหน้ากว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

นายคอลลิน เวียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวทวงถามความเป็นธรรมจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยระบุว่า หลังจากที่โฮปเวลล์ถูกบอกเลิกสัญญาเมื่อปี2541 ในสัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) มูลค่า 80,000 ล้านบาท และได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551

โดยกระทรวงคมนาคมและ รฟท.จะต้องคืนเงินตอบแทน เงินลงทุน รวมทั้งหนังสือค้ำประกันสัญญาสัมปทานและค่าธรรมเนียมแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งสิ้น 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแต่ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังมิได้ดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ 

อีกทั้ง ยังมีความพยายามทำให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโมฆะหรือสิ้นสภาพ เป็นความพยายามมุ่งหวังเพียงเพื่อจะไม่ต้องคืนเงินให้แก่โฮปเวลล์ฯ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศไทย ต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนนานาชาติ ซึ่งตนในฐานะนักลงทุนต่างชาติ หากให้ประเมินโอกาสทางการลงทุนในไทย ขณะนี้ยืนยันว่าไม่สนใจเข้าร่วมลงทุนอีก 

นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างหารือในแนวทางปกป้องบริษัทฯ ต่อการกระทำที่ส่งผลต่อชื่อเสียง จากบุคคลที่ตั้งใจทำให้โฮปเวลล์ได้รับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หรือบุคคล โดยจะพิจารณาเดินหน้าฟ้องเอาผิดทางอาญา ฟ้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมไปถึงศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ

‘โฮปเวลล์’ เตรียมลุยฟ้องอาญาภาครัฐ ยันจัดตั้งบริษัทถูกกฎหมาย

“เราจะเดินหน้าใช้กระบวนการทางกฎหมายทุกทาง เป้าหมายเพื่อเอาเงินคืนเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่น วันนี้ที่ออกมาเพื่อให้สังคมเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ค่าโง่ของรัฐ เงินที่รัฐต้องคืนในขณะนี้ล้วนเป็นเงินที่โฮปเวลล์ลงทุนและจ่ายค่าสัญญาสัมปทานไปให้กับการรถไฟฯ ในเมื่อถูกบอกเลิกสัญญาก็ต้องคืนเงินให้กับเอกชน”

ทั้งนี้มูลค่าที่รัฐต้องคืนให้กับโฮปเวลล์ในปัจจุบัน เป็นวงเงินราว 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินต้นตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดไว้ที่ 11,888 ล้านบาท รวมอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีหรือเกิดขึ้นเฉลี่ยวันละ 2.4 ล้านบาท นับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินในปี 2551 โดยแม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะขอฟื้นพิจารณาคดีใหม่ในศาลปกครอง และได้สิทธิในการชะลอจ่าย แต่คำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการยังคงมีผล ดังนั้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นทุกวัน และกลายเป็นภาระจากภาษีประชาชน

นายสุภัทร กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ยืนยันว่ามีการจัดตั้ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งวันนี้มีหลักฐานการจัดตั้งบริษัทฯ ที่ขอความเห็นชอบจาก รฟท.ในการประกอบกิจการโครงการลงทุนก่อสร้างระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับถูกต้องตามกระบวนการ โดยได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากกระทรวงพาณิชย์รวมไปถึงนำเสนอไปยัง รฟท.พิจารณาในปี 2533

“เราจัดตั้งบริษัทถูกต้อง วัตถุประสงค์เพื่อทำโครงการทางยกระดับและทางรถไฟในโครงการนี้อย่างเดียว และในปี2533 การรถไฟฯ ก็เห็นชอบว่าการจัดตั้งบริษัทถูกต้องตามกฎหมาย แต่มาในปี 2564 การรถไฟฯ กลับมาบอกว่าโฮปเวลล์จดทะเบียนไม่ชอบ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ภาครัฐพยายามที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้”