ดีมานด์เดินทางสัญญาณบวก “ทอท.” ใช้อาคารแซทเทิลไลท์

ดีมานด์เดินทางสัญญาณบวก  “ทอท.” ใช้อาคารแซทเทิลไลท์

ทอท.ดันเปิดอาคารแซทเทิลไลท์ เม.ย.ปี66 หลังดีมานด์ผู้โดยสารส่งสัญญาณเพิ่มต่อเนื่อง ประเมินตารางบินฤดูร้อนพีคสุด 85% ของขีดความสามารถ เร่งผู้ประกอบการร้านค้า “คิงเพาเวอร์” เตรียมให้บริการ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT1) โดยระบุว่า ขณะนี้อาคารดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ มีแผนเปิดให้บริการในเดือน เม.ย.2566 พร้อมกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ซึ่งจะเดินรถให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างอาคาร SAT1 และอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สำหรับรถไฟฟ้าไร้คนขับ ปัจจุบันทอท. ยังคงนำรถไฟฟ้า APM รุ่น Airval ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าล้อยาง ทั้ง 6 ขบวน 12 ตู้ ที่ขนส่งมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย สลับกันมาทดสอบเดินรถทุกขบวนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะเปิดให้บริการ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบมีความเสถียร แม่นยำ ตรงต่อเวลา และปลอดภัย โดยรถไฟฟ้าสายนี้จะให้บริการผู้โดยสารไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนำรถไฟฟ้าไร้คนขับมาให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารภายในท่าอากาศยาน

โดยรถไฟฟ้าไร้คนขับจะบริการรับ – ส่ง ผู้โดยสาร 2 สถานี คือสถานีอาคารผู้โดยสารหลัก บริเวณชั้น B2 คอนคอร์ด D กับ อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) บริเวณชั้นใต้ดิน B2 บริเวณ Gate S114-S115 ระยะทางวิ่ง 1 กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลา 2 นาทีต่อเที่ยว วิ่งบริการทุกๆ 3 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง โดย 1 ขบวน จะมี 2 ตู้ สามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 210 คนต่อขบวน หรือประมาณ 5,900 คนต่อชั่วโมง

นายนิตินัย ยังกล่าวอีกว่า อาคาร SAT1 มีพื้นที่ 2.16 แสนตารางเมตร สูง 4 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น B2 รถไฟฟ้า APM ชั้น B1 งานระบบ ชั้น G ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 3 ผู้โดยสารขาออก และชั้น 4 ร้านค้า ร้านอาหาร มี 28 หลุมจอดอากาศยาน รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากปัจจุบัน 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 60-63 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

อย่างไรก็ดี ประมาณช่วงเดือน พ.ย.นี้ ทอท.จะเริ่มแจ้งให้ผู้ประกอบการเข้ามาตกแต่งร้านค้า ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มคิงเพาเวอร์ผู้รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษี และผู้ประกอบการร้านอาหารในส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อเตรียมความพร้อมร้านค้าบริการส่วนต่างๆ ให้แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการได้ทันในเดือน เม.ย.2566

นอกจากนี้ ทอท.ยังเริ่มเจรจาเบื้องต้นกับสายการบินที่จอดเครื่องบินอยู่โดยรอบอาคาร SAT1 ตั้งแต่ช่วงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว เพราะต้องย้ายเครื่องบินเหล่านี้ไปจอดในพื้นที่อื่นเมื่อเปิดใช้งานอาคาร SAT1 ซึ่ง ทอท. ได้จัดเตรียมพื้นที่บริเวณที่จะใช้สร้างอาคาร SAT2 ไว้ให้จอดทดแทนแล้ว โดยสามารถรองรับการจอดเครื่องบินได้ประมาณ 28-29 ลำ ซึ่งหลังจากนี้จะต้องเร่งดำเนินการในการเคลื่อนย้ายต่อไป

นายนิตินัย เผยด้วยว่า ทอท.คงเป้าหมายเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ในเดือน เม.ย.2566 เนื่องจากเล็งเห็นถึงสัญญาณบวกของปริมาณผู้โดยสารที่จะเริ่มกลับเข้ามาในไทยตั้งแต่ช่วงตารางบินฤดูหนาว เริ่มในเดือน ต.ค.นี้ โดยประเมินว่าผู้โดยสารจะเติบโตเฉลี่ยวันละ 1 แสนคนต่อวัน หลังจากนั้นจะขยายตัวต่อเนื่องในตารางบินฤดูร้อนเริ่มเดือน เม.ย.2566 คาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะเดินทางเข้ามาในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฉลี่ยมากกว่าวันละ 1 แสนคน

“ตารางบินฤดูหนาวเราคาดว่าผู้โดยสารจะใช้บริการ 60-70% ของขีดความสามารถอาคารผู้โดยสารหลักรองรับ 45 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มขึ้นไปอีกในช่วงตารางบินฤดูร้อนเป็น 85% ของขีดความสามารถ ทำให้จะเกิดความแออัดทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง เคาน์เตอร์เช็คอิน และหลุดจอดอากาศยาน ดังนั้นเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่เราจะเปิดให้บริการอาคารแซทเทิลไลท์มารองรับ”