กกพ. ชี้ค่าไฟฟ้าทีงวดสุดท้ายปี 2565 มีโอกาสทะลุ 4.40 บาทต่อหน่วย

กกพ. ชี้ค่าไฟฟ้าทีงวดสุดท้ายปี 2565 มีโอกาสทะลุ 4.40 บาทต่อหน่วย

กกพ. ชี้ค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายปี 2565 มีโอกาสทะลุ 4.40 บาทต่อหน่วย เหตุต้นทุน ค่าก๊าซฯและน้ำมัน แพง เร่งใช้หลักเกณฑ์ Energy Pool Price ลดต้นทุนค่าไฟแพง ส่วนแผนระยะยาวต้องรื้อโครงสร้างบริการพลังงานของประเทศใหม่ วอนคนไทยช่วยชาติประหยัดการใช้พลังงาน เพื่อลดการนำเข้า

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ไขข้อข้องใจ...รับมือค่าไฟครึ่งปีหลัง” จัดขึ้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า แนวโน้มการปรับค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดสุดท้ายของปีนี้ (เดือนก.ย.– ธ.ค. 2565) มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากประมาณการไว้เดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งรอบปัจจุบันประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าที่ 4 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ เนื่องจากสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 40% จากเดิมคาดว่าจะใช้ 30% หลังต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลปรับสูงขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยลดลง ประกอบกับการรับก๊าซฯจากเมียนมามีแนวโน้มลดลง อีกทั้ง อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์ จากเดิมประมาณการอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์

“การปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปีนี้จะเป็นเท่าไหร่นั้น ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริงอีกครั้งในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้ แต่เบื้องต้นคาดว่าค่าเอฟทีงวดสุดท้าย จะปรับขึ้นไม่ถึง 5 บาทต่อหน่วย กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานฯ ส่งสัญญาณอยากให้การปรับขึ้นค่าเอฟที งวดสุดท้ายของปีนี้ เป็นการปรับขึ้นครั้งเดียวจบนั้น เป็นเรื่องที่ต้องรอติดตามสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิง แต่คาดว่า การปรับขึ้นค่าเอฟที ยังจะต้องต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงยังผันวน”

นายคมกฤช กล่าวว่า การบริหารจัดการต้นทุนค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน ยังเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ทำให้ต้นทุนราคาปรับลดลงเมื่อเทียบกับต้นทุนที่แท้จริงเล็กน้อย แต่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องควรจะต้องมีการบริหารจัดการในระยะยาว ได้แก่ โครงการจัดกาพลังงานในอนาคต LNG/Domestic Gas และแผนจัดหา เก็บและใช้ก๊าซฯระยะยาวอย่างเป็นธรรม เช่น เรื่อง LNG Terminal และจำนวน Tanks รวมถึงการวางแผนโครงสร้างพื้นฐาน ให้สอดคล้องกับแผนการจัดหาเชื้อเพลิง ตลอดจนมุ่งความสำคัญเรื่องของ Low Carbon แบบชาญฉลาด

สำหรับการบริหารจัดการในระยะสั้น อาทิ การยืนปลดโรงไฟฟ้าแม่เหมาะ จากเดิมมีกำหนดในปี2564 ออกไปเป็น ปี2565 แทน เพื่อลดการนำเข้า LNG ในที่มีราคาแพงเข้ามาผลิตไฟฟ้า รวมถึงออกประกาศการับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีทั้งโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD)แล้ว ประมาณ 30 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกราว 60 เมกะวัตต์ รวมปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ตลอดจนการนำเข้า LNG เข้ามาทดแทนกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยที่ลดลง เบื้องต้นประเมินว่าจะมีปริมาณ 8 ล้านตัน และมีแนวโน้มที่จะนำเข้าเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ยังเร่งก่อสร้างคลังรับ-จ่าย LNG แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) จากเดิมจะเสร็จปลายปีนี้ เพื่อรองรับการนำเข้า

นอกจากนี้ กกพ. ยังเสนอภาครัฐปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า เพื่อรับมือกรณีเกิดวิกฤติต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผัวผวน โดยเสนอเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. (Energy Pool Price) ที่ต้องการร่วมแก้ไขปัญหาพลังงานที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงผลิตเพื่อผลิตไฟฟ้าตามสถานการณ์ต้นทุนในขณะนั้น โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

ขณะเดียวกัน กกพ.ยังขับเคลื่อนการบริหารจัดการก๊าซฯ คู่ขนาดกับนโยบายเปิดเสรีก๊าซฯ ที่เปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามานำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม หรือ เกิดการแข่งขันนำเข้าก๊าซฯ โดยเมื่อปี 2562 กกพ.ได้ออกใบอนุญาติจัดหาและนำเข้าก๊าซฯ (Shipper LNG) ให้กับภาคเอกชนเพิ่มเติมหลายราย จากเดิม ปตท.เป็น Shipper LNG รายเดียวของประเทศ และต่อมาภาครัฐได้มีนโยบายให้ กฟผ.เข้ามาเป็น Shipper LNG รายที่ 2 เพื่อทดสอบระบบโครงข่ายท่อก๊าซฯ ก่อนที่จะมีเอกชนรายอื่นๆ เข้ามายื่นของเป็นผู้รับใบอนุญาต Shipper LNG เพิ่มเติม

โดยการจัดหาก๊าซฯ ในกลุ่ม Regulated Market ที่เป็นการจัดหาก๊าซฯ สำหรับตลาดใหม่ จะเป็นโอกาสสำหรับเอกชนที่มีใบอนุญาติ Shipper LNG ที่จะจัดหา LNG เข้ามา เช่น โรงไฟฟ้าหินกอง ที่ได้รับใบอนุญาติ Shipper LNG และมีแผนนำเข้า LNG เข้ามาป้อนเป็นเชื้อเพลิงในปี2567 รวมถึงกลุ่มบี.กริม ทีมีแผนนำเข้า LNG มาใช้ในปี 2566 เป็นต้น ซึ่งการที่ Shipper LNG มีการนำเข้ามาใช้เอง จะตัดออกจากระบบการคำนวณค่าไฟฟ้าหลัก ลดการนำเข้าก๊าซฯ ในส่วนที่แพงได้ 

ทั้งนี้ สถานการรณ์ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทยที่สูงขึ้นในปีนี้ เป็นผลมาจากโครงการสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทย ยังพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ากว่า 60% ของการผลิตไฟฟ้า โดยก๊าซฯ ส่วนใหญ่ได้มาจากอ่าวไทย 65% อีก 12 % มาจากแหล่งก๊าซฯ ในเมียนมา และอีก 10 % มาจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

โดยจากข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2563 พบว่า การผลิตไฟฟ้ากว่า 56% มากจากเชื้อเพลิงก๊าซฯ และอีกเหลือประมาณ 40% มาจากเชื้อเพลิงอื่นๆ ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้า อยู่ที่ประมาณ 2.61 บาทต่อหน่วย ซึ่งยังไม่รวมค่าสายส่งและจัดจำหน่าย และเป็นอัตราค่าไฟฟ้าในช่วงสถานการณ์ปกติ ซึ่งปี 2564 สัดส่วนการใช้ก๊าซฯ จากอ่าวลดลง ทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นถึง 20% จากเดิม 18% ในรูปแบบของสัญญาระยะสั้น (Spot LNG) ที่ราคาตลาดโลกปรับสูงขึ้น จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

สำหรับการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง กกพ.ยังเดินหน้าส่งเสริมการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังตา (โซลาร์รูฟท็อป) สำหรับภาคประชาชน(กลุ่มบ้านอยู่อาศัย) เพื่อผลิตไฟฟ้า โดยสนับสนุนโครงการตั้งแต่ปี 2562 และจากข้อมูลถึงปี 2564 พบว่า มีปริมาณไฟฟ้ารวมประมาณ 2 เมกะวัตต์ จำนวนกว่า 1,600 ราย รวมถึง การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลฯ และสถานศึกษา ก็พบว่า มีปริมาณติดตั้งเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน แนวทางการรับมือค่าไฟฟ้าแพงนั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ประชาชนทุกคนควรร่วมมือกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด

“อยากรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อลดสัดส่วนการนำเข้า LNG ที่เป็นส่วนที่แพงที่สุด เมื่อดูดใส่เข้าไปในการผลิตไฟฟ้าน้อยสุดก็จะลดต้นทุน ทำให้ราคาค่าไฟถูกลง เพราะอดีตเราใช้ทรัพยากรในประเทศ จึงทำให้ราคาค่าไฟถูก แต่ปัจจุบันทรัพยากรลดลงเรื่อย ๆ จึงต้องนำเข้า”