รัฐเคาะเก็บกำไรโรงกลั่น 8 พันล้าน /เดือน เข้ากองทุนน้ำมัน – ชงลดเบนซิน 1 บาท

รัฐเคาะเก็บกำไรโรงกลั่น  8 พันล้าน /เดือน  เข้ากองทุนน้ำมัน – ชงลดเบนซิน 1 บาท

เคาะแล้วเก็บกำไรโรงกลั่น – โรงแยกก๊าซสูงสุด 8 พันล้านบาทต่อเดือน ลดภาระเบนซิน 1 บาทต่อลิตร อุดหนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเสริมสภาพคล่อง พร้อมต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพเกือบทุกมาตรการ เว้นมาตรการประกันสังคม ชงเข้า ครม.สัปดาห์หน้า

         

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันแพง และลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ที่ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (16 มิ.ย.) ว่าในการบรรเทาผลกระทบประชาชนเรื่องราคาน้ำมันรัฐบาลได้มีการเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซทั้งหมดที่มีกำไรเพิ่มขึ้นในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นมาช่วยเหลือค่าน้ำมันประชาชนโดยส่งเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และลดราคาน้ำมันเบนซิน เป็นเงินรวมทั้งหมดประมาณ 7,500 – 8,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย.2565

โดยการเก็บเงินจากธุรกิจโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซจากกำไรการกลั่นน้ำมัน และการแยกก๊าซ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.กำไรจากการกลั่นน้ำมันดีเซลเดือนละประมาณ 5 – 6 พันล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จะส่งเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯ

2.กำไรจากการกลั่นน้ำมันเบนซินจะเก็บจากโรงกลั่นเดือนละ 1 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้จะมีการเก็บเงินเพื่อไปชดเชยให้กับผู้ใช้ราคาเบนซิน โดยลดราคาน้ำมันเบนซินให้กับผู้ใช้เบนซิน 1 บาทต่อลิตร

และ 3.เก็บจากกำไรของโรงแยกก๊าซ เดือนละประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยกำไรส่วนนี้จะเก็บเข้าสู่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนเช่นกัน  

ทั้งนี้จะมีเงินเข้าสู่กองทุนน้ำมันจากการเก็บเงินจากโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซทั้งหมดประมาณเดือนละ 6,000 – 7,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตามต้องมีการดำเนินการในเรื่องการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันอยู่ดี เพราะกองทุนน้ำมันมีภาระต้องชดเชยราคาพลังงานอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน

“มาตรการนี้เป็นการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนทั้งในส่วนของผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี และไม่ต้องมีการออกกฎกระทรวง หรือประกาศกระทรวงแต่อย่างไร” นายกุลิศ กล่าว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าส่วนมาตรการลดค่าครองชีพอื่นๆที่จะหมดอายุในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมฯให้มีการต่ออายุเกือบทุกมาตรการยกเว้นการลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม โดยจะเสนอเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้าก่อนมีผลบังคับใช้ก่อนมาตรการเดิมหมดอายุ