กยศ.แก้กฎหมายลดดอกเบี้ยผู้กู้เหลือไม่เกิน2%

กยศ.แก้กฎหมายลดดอกเบี้ยผู้กู้เหลือไม่เกิน2%

กยศ.แก้กฎหมายลดดอกเบี้ยกู้ยืมไม่เกิน 2% จาก 7.5% ดอกเบี้ยปรับไม่เกิน 5% จากไม่เกิน 18% เพื่อลดภาระผู้กู้ยืม พร้อมต่ออายุมาตรการช่วยเหลือช่วงโควิดถึงสิ้นปีนี้ แจงเบี้ยปรับแพงเหตุเพราะผู้กู้ผิดนัดชำระนาน

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในร่างกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับสำหรับการกู้ยืมเงินของนักเรียนนักศึกษา เพื่อลดภาระการกู้ยืม โดย กองทุนฯ เสนอให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมลดลงเหลือไม่เกิน 2% จากปัจจุบันที่คิดอยู่ในอัตราไม่เกิน 7.5% ส่วนเบี้ยปรับจะลดลงเหลือไม่เกิน 5% จากปัจจุบันที่คิดอยู่ในอัตราไม่เกิน 18%

อย่างไรก็ดี แม้ในกฎหมายปัจจุบันจะคิดอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับในอัตราดังกล่าว แต่แท้ที่จริงแล้ว กองทุนฯไม่ได้จัดเก็บในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด โดยจัดเก็บอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% เท่านั้น และเบี้ยปรับก็คิดสูงสุดไม่เกิน 7.5%

นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด หรือ นับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2564 ทางกองทุนฯได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยมีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือหรือไม่ถูกฟ้องร้องถึง 1.8 แสนราย ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.นี้ แต่ทางคณะกรรมการกองทุนฯได้ขยายอายุมาตรการออกไปจนถึงสิ้นปีนี้

สำหรับมาตรการช่วยเหลือช่วงโควิด ประกอบด้วย ลดอัตราการคิดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเหลือ 0.01% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ลดเงินต้น 5%

สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว ลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ (ไม่ค้างชำระ)

อีกทั้ง กองทุนได้มีมาตรการชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดีไว้ เว้นแต่คดีที่จะใกล้ขาดอายุความ และงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และ/หรือผู้ค้ำประกัน

เขากล่าวด้วยว่า กรณีที่มีข่าวว่า กองทุนฯคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับของผู้กู้ยืมจำนวนมากนั้น ตัวเลขดังกล่าวเป็นจำนวนเบี้ยปรับค้างชำระ ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่ผู้กู้ยิดนัดค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน และไม่ได้มีการติดต่อขอปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุนฯทำให้เกิดเบี้ยเบี้ยปรับสะสมจำนวนมาก ทั้งนี้ หากผู้กู้รายใดถูกดำเนินคดี ศาลจะพิพากษาให้ชำระหนี้เบี้ยปรับในอัตรา 7.5%

ปัจจุบัน กองทุนฯได้ให้กู้แก่นักศึกษาไปแล้วกว่า 6 ล้านราย เป็นเงินเกือบ 7 แสนล้านบาท อยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง 1 ล้านราย มูลหนี้ 1.2 แสนล้านบาท

ในปีการศึกษา 65 กองทุนฯได้เตรียมเงินงบประมาณให้กู้ยืมจำนวน 3.8 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาจำนวนกว่า 6 แสนราย ซึ่งเป็นวงเงินที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้มีแหล่งทุนนำไปใช้เป็นค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายดำรงชีพ และพร้อมปล่อยกู้เพิ่มมากกว่านี้หากมีความต้องการมากขึ้น โดยจะใช้เงินสภาพคล่องของกองทุน ไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาล

ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวว่า ในวันที่ 5 ก.ค.ของทุกปี ถือเป็นวันครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุนของผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระเงินคืน โดยสามารถตรวจสอบยอดหนี้ได้ที่แอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือ https://wsa.dsl.studentloan.or.th และชำระเงินคืนผ่านโทรศัพท์มือถือได้ รวมถึงชำระผ่านช่องทางรับชำระทั่วประเทศ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น) ไปรษณีย์ไทย บิ๊กซี และธนาคารที่กองทุนกำหนด

“เงินที่ได้รับชำระคืนมาจะเป็นทุนหมุนเวียนให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินในแต่ละปีการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง”