ตั้งกรรมการ 3 ชุดสางหนี้ทุจริตสหกรณ์ 1.8 หมื่นล้าน ตั้งเป้ายึดทรัพย์คืน 50%

ตั้งกรรมการ 3 ชุดสางหนี้ทุจริตสหกรณ์ 1.8 หมื่นล้าน ตั้งเป้ายึดทรัพย์คืน 50%

“วิษณุ” นั่งประชุมสางหนี้ทุจริตสหกรณ์ สั่ง แต่งตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตในสหกรณ์ เร่งติดตามทรัพย์ที่เกิดความเสียหายให้กลับคืนมา โดยจะต้องมีความคืบหน้าการทำงานทุกเดือน เพื่อลดตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหนี้กว่า 1.8 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ครั้งที่ 1/2565 ณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 101/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ โดยมี น.ส.มนัญญา เป็นประธาน มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย เลขาธิการ ปปง. , ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , อธิบดีดีเอสไอ , อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ ตรวจสอบ เร่งรัด ติดตาม การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทุจริต

น.ส.มนัญญา เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายวิษณุได้กล่าวก่อนการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้คณะทำงานชุดนี้ทำงานด้วยความรวดเร็วรอบด้าน ทั้งเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินคดี ยึดทรัพย์ หรือติดตามทรัพย์สิน นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งคณะทำงาน 3 ชุดเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตในสหกรณ์ ประกอบด้วย 1.คณะทำงานสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีการทุจริตในสหกรณ์ ที่มีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือให้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐาน และสรุปผลการสืบสวนเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

 2.คณะทำงานรวบรวมและตรวจสอบกรณีทุจริตของสหกรณ์ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ มูลเหตุของการเกิดทุจริต เสนอแนวทางตรวจสอบและมาตรการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์ และการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

และ 3.คณะทำงานปรับปรุงระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการตรวจสอบงบการเงินกรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลข้อบังคับ ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ และระเบียบเสนอนายทะเบียนสหกรณ์

นอกจากนั้นจะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาทุจริตในสหกรณ์ ที่บริเวณชั้น 2 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การติดตาม ประสานงานหน่วยงานกับที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อไป

โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ สรุปข้อบกพร่องการทุจริตที่เริ่มตั้งแต่ปี 2557 จากสหกรณ์ 7 ประเภท รวม 252 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิ.ย.2565 พบมูลค่าความเสียหาย 18,637.39 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.สหกรณ์การเกษตร 140 แห่ง 218 รายการ 1,822.79 ล้านบาท 2.สหกรณ์ประมง 2 แห่ง 2 รายการ 3.70 ล้านบาท 3.สหกรณ์นิคม 6 แห่ง 8 รายการ 99.91 ล้านบาท 4.สหกรณ์บริการ 23 แห่ง 28 รายการ 73.98 ล้านบาท 5.สหกรณ์ร้านค้า 40 แห่ง 54 รายการ 3.39 ล้านบาท 6.สหกรณ์ออมทรัพย์ 40 แห่ง 54 รายการ 3,300.31 ล้านบาท และ 7.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 37 แห่ง 42 รายการ 13,333.28 ล้านบาท

สำหรับความเสียหาย 18,637.39 ล้านบาท แยกออกเป็นการทุจริต 11 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ทุจริตเกี่ยวกับเงินสด 31% 2.ทุจริตเกี่ยวกับเงินฝากของสหกรณ์ 6% 3.ทุจริตเกี่ยวกับเงินรบฝากจากสมาชิก 9% 4.ทุจริตเกี่ยวกับเงินกู้ 21% 5.ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย 13%

6.ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจรวบรวมฯ 5% 7.ทุจริตเกี่ยวกับธุรกิจบริการ ส่งเสริมการเกษตร 1% 8.เบิกค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ 1% 9.นำทรัพย์สินของสหกรณ์ไปขายโดยมิชอบ น้อยกว่า 1% 10.นำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวแล้วบันทึกบัญชีเป็นเงินยืมทดรอง 2% และ 11.ทุจริตประเด็นอื่นๆ 11% ซึ่งบางสหกรณ์มีข้อบกพร่องทุจริตมากกว่า 1 ประเด็น

น.ส.มนัญญา กล่าวอีกว่า กรณีการทุจริตที่นายวิษณุเป็นห่วงมากที่สุด คือ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่มีความเสียหายมากที่สุดประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ติดตามทรัพย์ได้ประมาณ 7 พันล้านบาท รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์รถไฟมีความเสียหาย 2 พันกว่าล้านบาทแต่ติดตามทรัพย์ได้ 400 กว่าล้านบาท ตรงนี้ต้องหาแนวทางให้การยึดทรัพย์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะสหกรณ์แต่ละแห่งติดตามยึดทรัพย์ได้น้อย จึงตั้งเกณฑ์ว่าควรจะมีการยึดทรัพย์จากความเสียหายในสหกรณ์แต่ละแห่งไม่ต่ำกว่า 50% เหมือนกรณีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ความเสียหาย 600 ล้านบาทก็ติดตามทรัพย์ได้แล้ว 300 กว่าล้านบาท

 

“คณะทำงานชุดนี้จะเร่งติดตามทรัพย์ที่เกิดความเสียหายให้กลับคืนมา โดยจะต้องมีความคืบหน้าการทำงานทุกเดือน เพื่อลดตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้น บางกรณีไม่จำเป็นต้องรอให้คดีความจบ แต่น่าจะมีการพูดคุยหรือประนอมหนี้กัน เพื่อให้เกิดแนวทางค่อยๆ ใช้หนี้” น.ส.มนัญญา กล่าว

น.ส.มนัญญา กล่าวด้วยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และเป็นการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมแล้ว บางคดีก็ยังไม่ได้ตัวผู้กระทำความผิด และมีการหลบหนี แต่ต้องมีกระบวนการติดตามยึดทรัพย์ เพื่อทำให้ความเสียหายลดลง เรื่องแรกที่คุยกันในประชุมวันนี้ คือ เรื่องของทรัพย์ที่ติดตามยึดมาได้แล้วจะทำอย่างไรต่อ เพราะบางอย่างเป็นทรัพย์อื่นที่ไม่ใช่เงิน เช่น อาคาร ห้องชุด ฯลฯ ที่เราสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้ แต่บางอย่างกว่าจะรอศาลพิพากษา หากไม่บริหารจัดการทรัพย์ ก็จะเกิดการเสื่อมสภาพได้