“พลังงาน” เล็งขยับเพดานดีเซล 38 บาท กองทุนน้ำมันติดลบพุ่ง 9.1 หมื่นล้าน

“พลังงาน” เล็งขยับเพดานดีเซล 38 บาท กองทุนน้ำมันติดลบพุ่ง 9.1 หมื่นล้าน

“พลังงาน” เล็งขยับเพดานดีเซลเป็น 38 บาท หลังกองทุนน้ำมันติดลบเกือบทะลุ 1 แสนล้าน เคาะดีเซลวันนี้ลิตรละ 35 บาท ระบุ ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยหน้าโรงกลั่นอยู่ระดับ 2-3 บาท

ขึ้นดีเซลชนเพดาน 35 บาท

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีมติปรับราคาดีเซลขึ้นลิตรละ 1 บาท อยู่ที่ลิตรละ 34.94 บาท จากลิตรละ 33.94 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย.2565

ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนลิตรละ 9.96 บาท จากราคาจริงลิตรละ 45 บาท เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนมาก โดยราคาดีเซลประเทศสิงคโปร์วันที่ 2 มิ.ย.2565 บาร์เรลละ 158.29 ดอลลาร์ ขึ้นไปที่บาร์เรลละ 170.61 ดอลลาร์ ในวันที่ 6 มิ.ย.2565 และผันผวนระหว่างสัปดาห์ก่อนจะปรับตัวขึ้นไปสูงถึงบาร์เรลละ 172.77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2565

ส่วนกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์นั้น กบน.ลดนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปก่อนหน้านี้ลิตรละ 0.93 บาท จากเดิมเก็บลิตรละ 1.02 บาท เหลือส่งเงินเข้ากองทุนลิตรละ 0.09 บาท 

ในขณะที่ E20 ปรับลดการจัดเก็บลงอีกลิตรละ 0.94 บาท จากเดิมจัดเก็บลิตรละ 0.12 บาท ส่งผลให้กองทุนต้องชดเชยเงินให้กับ E20 ที่ลิตรละ 0.82 บาท เพื่อทำให้ราคาขายปลีกเบนซินลดลง ซึ่งจะดำเนินการอย่างไรในระยะต่อไป ต้องหารือกันอีกครั้ง

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 12 มิ.ย.2565 ติดลบ 91,089 ล้านบาท เป็นบัญชีน้ำมัน 54,574 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 36,515 ล้านบาท ซึ่งจะดูแลราคาพลังงานถึงสิ้นปีหรือไม่ ขึ้นกับการเงินกู้และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาตรา 6 (2) ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562

เหลือกระแสเงินสดกว่าหมื่นล้าน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีกระแสเงินสดเป็นเงินฝากอยู่ในธนาคาร 8,200 ล้านบาทท ฝากไว้ที่กระทรวงการคลัง 2,800 ล้านบาท มีเงินที่ยืดการชำระผู้ค้ามาตรา 7 อีก 5,000-7,000 ล้าน และอื่นๆ อีก 2,000 ล้านบาทเศษ 

ประกอบกับการปรับราคาดีเซลขึ้นได้ช่วยลดภาระการอุดหนุนได้วันละกว่า 60 กว่าล้านลิตร คิดเป็นเงินวันละ 663 ล้านบาท หรือเดือนละ 19,900 ล้านบาท รวมกับการลดอุดหนุนดีเซลพรีเมียมส่วนหนึ่ง ทำให้มีเงินเติมเข้ามาในระบบ

สำหรับความคืบหน้าการหารือเกี่ยวกับแนวทางการปรับลดค่าการกลั่นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้เข้าใจว่ากระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาอย่างรอบด้านให้ครบทุกมิติทั้งกฎหมาย ความเป็นธรรม สัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของโรงกลั่น

เล็งเพิ่มเพดานเป็น 38 บาท

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สกนช. กล่าวว่า เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่ กบน.อาจต้องปรับเพดานการตรึงราคาดีเซลเป็นลิตรละ 38 บาท จากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกินลิตรละ 35 บาท ซึ่งอาจยืนได้ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการทบทวนราคาแต่ละสัปดาห์ รวมถึงสภาพคล่องของกองทุนและความคืบหน้าเรื่องเงินกู้จากสถาบันการเงินว่าจะมีเงินเข้าเติมในระบบได้เร็วแค่ไหน

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สพน.) เผยแพร่ค่าการกลั่นมาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลักษณะการเผยแพร่จะเป็นรูปแบบการคำนวนจากตัวเฉลี่ยของราคาน้ำมันที่ผลิตในประเทศ กับค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่โรงกลั่นมีการกลั่นและมาหักกับค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันดิบจาก 3 แหล่งได้แก่ จากดูไบ โอมาน และทาปีส โดยค่าการกลั่นเฉลี่ยช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาของปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) อยู่ที่ลิตรละ 3.27 บาท

ขณะที่เดือน พ.ค.2565 ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 5.02 บาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจริงแต่เป็นผลมาจากความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลต่อราคาน้ำมันและค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น 

ส่วนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หากนำค่าการกลั่นมาเปรียบเทียบช่วงปี 2563-2564 ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การใช้น้ำมันลดลง ทำให้ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 70-89 สตางค์ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปีอื่น เช่น ตั้งแต่ปี 2555 ค่าการกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 2.15 บาท, ปี 2556 อยู่ที่ลิตรละ 2.2 บาท, ปี 2557 อยู่ที่ลิตรละ 2.35 บาท, ปี 2558 อยู่ที่ลิตรละ 2.43 บาท, ปี 2559 อยู่ที่ลิตรละ 1.83 บาท ปี 2560 อยู่ที่ลิตรละ 2.16 บาท ปี 2561 ลิตรละ1.70 บาท และปี 2562 ลิตรละ 1.20 บาท 

“จะเห็นได้ว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 2-3 บาท มาตลอด และจะปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามสถานการณ์ราคาและความต้องการใช้ในตลาดโลก ขณะที่ปัจจุบันที่เกิดวิกฤติราคาพลังงานจนทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นนั้นส่งผลให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นด้วย” นายสมภพ กล่าว