โบรก คาด หุ้นไทยผันผวนสูง-ฟันด์โฟลว์ไหลออกต่อเนื่อง2-3เดือน

โบรก คาด หุ้นไทยผันผวนสูง-ฟันด์โฟลว์ไหลออกต่อเนื่อง2-3เดือน

สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก "หุ้น-บิตคอยน์"ดิ่ง ผวาเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง 8.6% สูงสุดรอบ 40 ปี  หวั่น ‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ยแรง บล. ทิสโก้ ชี้ ผันผวนต่อ 1-2 เดือน แนะชะลอลงทุนถือเงินสด บล.ซีไอเอ็มบี เชื่อไม่หลุดแนวรับ 1,580 จุด บล.เอเซีย พลัส คาดฟันด์โฟลว์ไหลออกต่อเนื่อง 2-3 เดือน 

หลังนักลงทุนต้องตะลึงงัน เมื่อวันศุกร์ (10 มิ.ย.) ที่ผ่านมา หลังพบว่า ข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐประจำเดือน พ.ค. พุ่งขึ้น 8.6% สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2524 หลังสงครามยูเครน และการล็อกดาวน์ของจีน ดันราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้น 

ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวนำไปสู่การคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในจุดหนึ่ง แม้ยังเชื่อว่าการประชุมรอบนี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เหมือนเดิม  ดัชนีหลักทั้งสามตัวของวอลล์สตรีทแดงไปตามๆ กัน ตลาดเอเชียวานนี้ (13 มิ.ย.) ร่วงตามทั้งฮ่องกง โตเกียว มุมไบ จาการ์ตา ไทเป เวลลิงตัน เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ มะนิลา

ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง วานนี้ดิ่งลง 3.39% หรือ738.60 จุด ปิดที่21,067.58 จุดดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตร่วงลง 0.89% หรือ 29.28 จุด ปิดที่ 3,255.55 ดัชนีเสิ่นเจิ้นคอมโพสิต ปิดลบเล็กน้อย 0.21 จุด มาอยู่ที่2,085.10 จุดดัชนีนิกเคอิ 225 ตลาดโตเกียว ปิดลงแรง3.01% หรือ 836.85 จุด มาอยู่ที่26,987.44 จุด ส่วนดัชนี Topix ลดลง 2.16% หรือ 42.03 จุด ปิดที่1,901.06 จุด

หุ้นยุโรปเปิดตลาดอ่อนตัว ตลาดลอนดอนลดลงกว่า 1% หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเดือน เม.ย. หดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่ตลาดแฟรงค์เฟิร์ต และปารีสติดลบหนักในการซื้อขายช่วงเช้า

     

 

 

   

นักวิเคราะห์จากโกลด์แมนแซค กล่าวในรายงาน “ถึงจุดหนึ่งเงื่อนไขทางการเงิน จะตึงตัวมากพอและ/หรือเศรษฐกิจจะอ่อนตัวลงมากพอที่เฟดสามารถหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่เรายังไกลจากจุดนั้นมาก จุดที่ชี้ให้เห็นความเสี่ยงขาขึ้นต่อผลตอบแทนพันธบัตร แรงกดดันต่อเนื่องต่อสินทรัพย์เสี่ยง และเป็นไปได้ที่ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเป็นวงกว้างขณะนี้”

เยนอ่อนค่าต่ำสุดรอบ 24 ปี

การคาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรง ยิ่งดันให้เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ทะลุระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี เมื่อเทียบกับเยน ที่ 135.19 เยนต่อดอลลาร์ อีกทั้ง ยังทำให้รูปีอินเดียอ่อนค่าสุดกว่า 78 รูปีต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรก ไม่เพียงเท่านั้นดอลลาร์ยังแข็งค่าสุดในรอบหลายปีเมื่อเทียบกับยูโรและปอนด์ด้วย

นายทาคาฮิเดะ คิโนอูจิ นักเศรษฐศาสตร์บริหาร สถาบันวิจัยโนมูระ เพิ่งให้ความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เบื้องหลังเงินเยนร่วงอยู่ที่ช่องว่างที่เพิ่มมากขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ แต่ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นยังยึดมั่นในนโยบายเดิม กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การกระชับนโยบายการเงินไม่ใช่มาตรการที่เหมาะสมสำหรับญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 ระบาด

น้ำมันอ่อนตัวกังวลจีนล็อกดาวน์

ราคาน้ำมันอ่อนตัวต่อเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากความกังวลเรื่องดีมานด์หลังจากจีนยังคงยึดมั่นในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หลายพื้นที่ของนครเซี่ยงไฮ้ เมืองใหญ่สุดของประเทศ กลับมาล็อกดาวน์ เจ้าหน้าที่ระดมตรวจหาเชื้อโควิดจากประชาชนหลายล้านคน หลังจากเพิ่งยกเลิกมาตรการเข้มงวดไปได้ไม่กี่สัปดาห์

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลง 1.7% มาอยู่ที่ 119.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอ ลดลง 1.7% เช่นกัน มาอยู่ที่ 118.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

บิตคอยน์ดิ่งตามตลาดหุ้น

    ด้านบิตคอยน์ สกุลเงินเสมือนยอดนิยมที่สุดในโลกราคาดิ่งลงราว 10% อยู่ที่ 24,692 ดอลลาร์ ในการซื้อขายที่ลอนดอนช่วงเช้า หลุดระดับที่เคยทำไว้เมื่อเดือน ธ.ค.2563 ผลพวงจากตลาดหุ้นโลกดิ่งลงมาตั้งแต่วันศุกร์ นาอีม อัสลาม นักวิเคราะห์จากเอวาเทรด กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตลาดกับบิตคอยน์แข็งแกร่งมากขึ้นทุกขณะ

    ทั้งนี้ นับตั้งแต่ราคาพุ่งสูงสุดทุบสถิติเมื่อเดือน พ.ย.2564 บิตคอยน์ราคาดิ่งลงมา 65% แล้ว

  หุ้นไทยดิ่ง 32 จุด

ความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทย วานนี้ (13 มิ.ย.)ปรับตัวลงแรงตั้งแต่เปิดซื้อขายและทำจุดต่ำสุดของวันที่  1,599.34 จุด ลดลง 33.28 จุด ก่อนจะกลับมาเปิดตลาดที่ 1,600.06 จุด  ลดลง 32.56 จุด หรือ 1.99%   มูลค่าซื้อขาย  73,466.76 ล้านบาท  

     ด้านนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ  2,597 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศ 3,652.61 ล้านบาท   นักบุคคลทั่วไปซื้อสุทธิ 6,170.58 ล้านบาท และบัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 79.02 ล้านบาท 

      นายอภิชาติผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)ทิสโก้ กล่าวว่า หุ้นไทยปรับตัวลงแรง เป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นโลก หลังเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งแรงเกินคาด ทำให้กังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)เร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งบล.ทิสโก้ คาดว่าจะขึ้น 0.50% ในการประชุมเดือนนี้ 

       ทั้งนี้จะต้องติดตามการส่งสัญญาณของเฟดว่าในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้จะขึ้นดอกเบี้ยอัตราเท่าไร รวมถึงมีปัจจัยลบในประเทศเข้ามาผสม คือ กระทรวงการคลัง เตรียมที่จะเก็บภาษีขายหุ้น และราคาน้ำมันดีเซลจะปรับขึ้นวันนี้ลิตรละ1บาท 

 ดัชนีผันผวนสูงแนะถือเงินสด 

 อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่า หุ้นไทยในช่วง 1-2 เดือนจากนี้จะมีความผันผวนสูง จากมีปัจจัยลบกดดันจากสภาพคล่องที่ลดลง จากเฟด ดึงเม็ดเงินสภาพคล่องกลับ ( QT)  ธนาคารกลางประเทศต่างๆ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะมีการขึ้นดอกเบี้ย

ดังนั้นบริษัทแนะนำ ให้ถือเงินสด ซึ่งหากเป็นนักลงทุนระยะกลางและยาว มองว่าหากดัชนีปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า 1,600 จุด ก็เป็นจังหวะในการเข้าลงทุนได้ โดยประเมินแนวรับวันนี้ ที่ 1,580-1,590 จุด แนวต้านที่ระดับ 1,620 จุด

นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส - ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ประกาศออกมาของเดือน พ.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.6% ทำให้เกิดความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ต้องติดตามว่าในการประชุมในวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้จะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของการประชุมครั้งนี้ปีนี้อีก 3 ครั้ง (ก.ย. พ.ย. และธ.ค.) จากประชุมก่อนหน้าที่ที่จะขึ้นดอกเบี้ยเดือนมิ.ย.และก.ค.จะขึ้น 0.50% และที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยช้าอาจจะไม่ดี และประเด็นที่เฟดเริ่มทำQT ในเดือนนี้

ดังนั้นส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง แต่คาดว่าดัชนีจะไม่หลุด 1,580 จุด โดยกลุยทธ์การลงทุน แนะ ซื้อเก็งกำไร เพราะ เศรษฐกิจไทยมีทิศทางฟื้นตัว สะท้อนจากกนง. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้เพิ่มขึ้น โดยหุ้นที่แนะนำ คือ กลุ่มโรงแรม ที่จะได้รับประโยชน์เปิดเมือง  ค้าปลีก พลังงาน  และกลุ่มแบงก์

  คาดเงินเฟ้อไทยพีค.ส.ค.

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเชีย พลัส กล่าวว่า หุ้นไทยในเดือนมิ.ย. คาดว่าจะปรับฐานลง จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อของไทยจะปรับตัวขึ้นสูงสุด (พีค) ในเดือนส.ค.ที่ระดับ 8% และ เงินเฟ้อของสหรัฐจะอยู่ที่ 8.5-8.6%

 ดังนั้น ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างมีการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวที่เห็นผลในเชิงปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยทำให้สิ้นปีนี้จะเกิน 3% ประกอบกับเฟดทำ QT ทำให้เป็นปัจจัยกดดัน ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับฐานแรงใน ที่ 1,600 จุด ซึ่งเชื่อว่าแนวรับที่ 1,580 จุด จะรับอยู่

สำหรับกลยุทธ์ การลงทุนบริษัท แนะ ให้ถือเงินสด 15-20% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลือกระจายการลงทุนใน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มธนาคารพาณิชย์และประกัน ที่จะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น 2. กลุ่มเปิดเมือง เช่น กลุ่มโรงแรม ขนส่ง และโรงพยาบาล และ 3. กลุ่ม ส่งออกที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า คือหุ้นอาหารและเกษตร

ส่วนทิศทางการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) คาดว่าจะยังคงไหลออกต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ เนื่องจาก ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า แต่เชื่อทั้งปีนี้ต่างชาติยังซื้อสุทธิหุ้นไทย