เทกระหน่ำขายหุ้น “TOP” หวั่นราคาเพิ่มทุน - แทรกแซงค่าการกลั่น

เทกระหน่ำขายหุ้น  “TOP”  หวั่นราคาเพิ่มทุน - แทรกแซงค่าการกลั่น

ปัญหาระดับโลกราคาพลังงานไม่มีทีท่าจะลดลง นำพาเงินเฟ้อพุ่งทะยานทำสถิติใหม่ในรอบหลาย 10 ปี และกระทบนโยบายการเงินของทุกประเทศ ซึ่งไทยเจอปัญหาดังกล่าวไม่แตกต่างกัน และกระทบไปยังธุรกิจพลังงานอย่างโรงกลั่นเรียบร้อยแล้ว

    ราคาน้ำมันดิบที่เหนือ 120  ดอลลาร์ต่อบาร์เรลส่งผลไปยังภาคธุรกิจการกลั่นที่ต้องใช้น้ำมันมาเป็นสต็อกเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันทั้งดีเซล เบนซิน น้ำมันเครื่องบิน และอื่นๆ ด้วยช่วงที่ผ่านมาความต้องการใช้น้ำมันดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นตามการเปิดประเทศ - คลายล็อกดาวน์ จึงทำให้ปริมาณความต้องการใช้ทะลักหลังอั้นมานานดันค่าการกลั่นในตลาดโลกจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

    โดยค่าการกลั่นอยู่ที่ 26.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เดือนพ.ค. และเฉลี่ยเม.ย. 2565 อยู่ที่ 18.44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ไตรมาส 1 ปี 2565 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล   ทำให้แนวโน้มราคาหุ้นโรงกลั่นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นหุ้นที่ไว้สู้กับราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อ

      รายใหญ่ในไทย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP  ซึ่งบริษัทดำเนินงานหลักของธุรกิจโรงกลั่นมีกำลังการกลั่น 2.75 แสนบาร์เรลต่อวันสูง ที่สุดในประเทศไทย และคิดเป็น 22.5% ของกำลังการกลั่นในประเทศ

      รวมทั้งยังดำเนินการธุรกิจอื่นๆ เช่น ปิโตรเคมีการผลิตไฟฟ้า และการขนส่งทางทะเล มีรายได้หลักมาจาก โรงกลั่น สัดส่วนที่ 55% ของ EBITDA รวมธุรกิจอะโรเมติกส์ และห้องปฏิบัติการ สัดส่วนที่18% ของ EBITDA รวม  ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน สัดส่วนที่17% ของ EBITDA รวมธุรกิจการผลิตไฟฟ้า สัดส่วนที่ 6% ของ EBITDA รวมธุรกิจสารทำละลาย สัดส่วนที่ 4% ของ EBITDA รวม และอื่นๆ สัดส่วนที่1% ของ EBITDA รวม

       ช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 รายการกำไร  7.2 พันล้านบาท  (+114% YoY, +43% QoQ)  ทำจุดสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส  จากธุรกิจโรงกลั่นที่แข็งแกร่ง และมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน  สวนทางกับธุรกิจปิโตรเคมีโรงไฟฟ้า และ อื่นๆ  ที่กำไรปรับตัวลดลง ด้วยค่าการกลั่นโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการปรับประมาณการกำไรปี 2565 ต่อเนื่องไปถึง ปี 2566

ดังนั้นภาพราคาหุ้น TOP ปรับตัวขึ้นจากปิดสิ้นปี 2564 ที่  49.50 บาท ราคาไปแตะที่ 62.25 บาท ( 8 มิ.ย.65)  ราคาหุ้น กำลังเป็นทิศทางขาขึ้นกลับสะดุดถูกเทขายหลังเผชิญการเรียกร้องให้ภาครัฐปรับค่าการ กลั่นลงเพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นในประเทศ

      ประเด็นดังกล่าวแม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนออกมาเป็นในแนวทางไหน แต่บทวิเคราะห์ออกมามองไปในแนวโน้มเชิงลบต่อหุ้นกลุ่ม โรงกลั่น ที่ปัจจุบันตลาดน้ำมันในประเทศไทยเป็นตลาดเสรีใช้กลไกตลาดโลก ตาม Demand, Supply

        หากรัฐจะเข้ามาควบคุมค่าการกลั่นโดยตรงนั้น อาจจะเป็นไปได้ยาก  ยกเว้นจะมีเครื่องมือทางกฎหมายที่ทำได้ ซึ่งที่ผ่านมามีแค่การขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการช่วยพยุงราคาดีเซลไว้ก่อน  ดังนั้นหากมีการเข้าไปแทรกแซงจริงมีผลต่อกำไรทั้งกลุ่มไปด้วย

         นอกจากนี้เฉพาะ TOP มีการประกาศเพิ่มทุนออกมาผ่านมติผู้ถือหุ้นไปเมื่อ 7เม.ย. 2565   โดยการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ไม่เกิน 275.12 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการเสนอขาย PO ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม และประชาชนทั่วไป จำนวนไม่เกิน 239.235 ล้าน หุ้น โดยจะมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 35.885 ล้านหุ้น  ซึ่งจะกำหนดราคาเสนอขายโดยวิธี Book Building  หากเผชิญแรงกดดันจากการแทรกแซงค่าการกลั่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล) ดีบีเอส วิคเคอร์ (ประเทศไทย) มองผลกระทบเพราะต้องเทียบกับราคาหุ้นในตลาดที่ก่อนหน้านี้ปรับตัวสูงขึ้นไปมากตามค่าการกลั่น

         ทั้งนี้จะมีการกำหนด XB หรือ Excluding Other Benefits เพื่อแจ้งว่าผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ช่วงขึ้นเครื่องหมาย XB จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่บริษัทจดทะเบียนประกาศให้  ซึ่ง TOP กำหนดคือ 15 มิ.ย. 2565 นี้

         โดยเพิ่มทุนเตรียมนำไปลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical (CAP) เงินลงทุน 1.18 พันล้านเหรียญ ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท  รวมทั้งการขายหุ้น GPSC จำนวน 304.098 ล้านหุ้น (10.8% ของหุ้น GPSC ทั้งหมด) ให้กับ PTT และ SMH (บริษัท สยาม แมนเจนเม้นท์ จำกัด บริษัทย่อยของ PTT) คาดว่า TOP จะได้เงิน จากธุรกรรมดังกล่าวประมาณ 2.23 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 73.5 บาทต่อหุ้น) โดยเงินที่ได้จากการจากขายหุ้นจะนำไปชำะคืนให้เงินกู้ Bridging Loan ที่กู้ยืมมาจาก PTT ก่อนหน้านี้

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์