คาถาฝ่าวิกฤติ 'บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา' Change-คนรุ่นใหม่ เคลื่อนสหพัฒน์ 80 ปี

คาถาฝ่าวิกฤติ 'บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา'  Change-คนรุ่นใหม่ เคลื่อนสหพัฒน์ 80 ปี

ปี 2485 คือจุดเริ่มต้นตั้ง “สหพัฒน์” โดยมี “นายห้างเทียม โชควัฒนา” เป็นผู้ปลุกปั้นธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค มีแบรนด์ชั้นนำเติบโตติดตลาดจำนวนมาก

ปัจจุบัน อาณาจักรสหพัฒน์ยิ่งใหญ่มีบริษัทร่วม 300 บริษัท แบรนด์ดังภายใต้เครือ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป”มาม่า” ผงซักฟอก “เปา” ผลิตภัณฑ์ซักผ้า “เอสเซ้นส์” ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟัน “ซิสเทมม่า” ขนมปัง “ฟาร์มเฮ้าส์” เสื้อผ้าแฟชั่นวาโก้ กีลาโรช แอร์โร่ว เป็นต้น

ปี 2565 สหพัฒน์เคลื่อนธุรกิจสู่ปีที่ 80 นำโด่งเป็นองค์กรเก่าแก่ แต่ในเครือยังมีอีกหลายบริษัทที่ฉลองครบขวบปี(Anniversary)แตกต่างกันไป เช่น ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผู้ผลิต “มาม่า” องค์กรครบ 50 ปี

บริษัท เมคอัพเทคนิค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ โรงเรียนสอนศิลปการแต่งหน้า MTI โรงเรียนสอนแต่งหน้าแห่งแรกในประเทศไทย และยังมีสินค้าเครื่องสำอางตอบโจทย์สาวเอเชีย เดินทางสู่ 40 ปี รวมถึงครื่องสำอาง BSC Cosmetology ก้าวสู่ปีที่ 25 เป็นต้น

ทว่า อาณาจักรใหญ่สหพัฒน์ก้าวสู่ทศวรรษที่ 8 โดยมี “เสี่ยบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา” ประธานเครือสหพัฒน์ ยังคงเป็นแม่ทัพคนสำคัญคอยอยู่ “เบื้องหลัง” ดูแล “ทายาท 17 ชีวิต” สร้างการเติบโตในสเต็ปต่อไป

ทุกปีงานแถลงข่าวจัดสหกรุ๊ปแฟร์ “เสี่ยบุณยสิทธิ์” จะออกงาน เดินสำรวจไฮไลท์ของงานด้วยตนเอง พร้อมปล่อยให้ “ทายาท” ขึ้นเวทีโชว์สกิลการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ การนำเสนอสินค้านวัตกรรม การลดราคา การค้าขายให้กับสื่อและสังคมทราบ

เสร็จสิ้นการแถลงข่าว “เสี่ยบุณยสิทธิ์” ยังเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนล้อมวงพูดคุยอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเองเสมอ แต่ปี 2565 แตกต่างออกไป ด้วยอายุอานามล่วงเข้าสู่วัย 85 ปี และยังมีโรคโควิด-19 ระบาดเป็นปัจจัยเสี่ยง งานนี้การสนทนาจึงเว้นระยะห่าง

“ก่อนอื่นนะต้องขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่าน..ที่ยังไม่ลืมชั้น” เสี่ยบุณยสิทธิ์ เปิดประโยคแรกอย่างอารมณ์ดี และเรียกเสียงหัวเราะจากทุกคนได้ด้วย

ประเด็นใหญ่ที่ทุกสื่อยิงตรงถึงแม่ทัพใหญ่เครือสหพัฒน์ หนีไม่พ้นสถานการณ์ต้นทุนที่แพง แล้วบริษัทจะแบกภาระต้นทุนสินค้านานแค่ไหน สินค้าจะปรับขึ้นราคาเมื่อไหร่ โดยเฉพาะ บะหมี่ฯ “มาม่า” ซึ่งสินค้าหลักขายราคา 6 บาทนานหลายปีแล้ว หากขยับขึ้น 1 บาท เอาอยู่ไหม ซึ่งคำตอบที่ได้รับ คือการขอความเมตตาจากกระทรวงพาณิชย์ช่วยไฟเขียวให้ผู้ผลิตขึ้นราคาด้วย เพราะการแบกต้นทุนเวลานี้ หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 อย่างมาก

ยกตัวอย่างแค่ “มาม่า” ต้นทุนแป้งสาลี น้ำมันปาล์ม พุ่งหลายเท่าตัว ยิ่งกว่านั้น เมื่อสำรวจบะหมี่ฯในประเทศอื่นทั่วโลก “ชึ้นราคา” กันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน ฯ

ไม่ใช่แค่บะหมี่ฯ ที่ต้องขึ้นราคา แต่ “ผงซักฟอก” เผชิญปัญหาเดียวกันที่วัตถุดิบหลายตัวได้รับแรงสะเทือนจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

การส่งสัญญาณขอขึ้นราคาเป็นประเด็นร้อนแรง แต่อีกเรื่องที่น่าสนใจ ต้องยกให้การสืบสาน “เครือสพัฒน์” ให้โตต่อสู่องค์กร “100 ปี”

“สหพัฒน์อยู่มา 80 ปี แต่ฉันดูแลธุรกิจมา 70 ปี ติดตามนายห้าง 40 ปี พอนายห้างเสีย เคลื่อนธุรกิจอีก 30 ปี ฉันเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ซึ่งแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน”

โลกธุรกิจไม่หยุดนิ่ง เช่นเดียวกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอด เมื่อ “ทายาท” รับไม้ต่อสานอาณาจักร จึงย้ำให้ลูกหลานตลอดจน Successor ต้องปรับตัวเองให้ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์ ขณะที่คนเก่า “เก๋าประสบการณ์” มีความสามารถเช่นกัน แต่มองคนรุ่นใหม่พลิกกระบวนท่าได้เร็วกว่า มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีเก่งกว่าคนรุ่นเก่าทุกอย่าง

“สหพัฒน์อยู่ในยุคนี้(คนรุ่นใหม่สานธุรกิจ)อย่างงานสหกรุ๊ปแฟร์ พยายามเปลี่ยนให้คนรุ่นใหม่ รันต่อ สร้างการเติบโตเป็นบวกขึ้นเรื่อยๆ”

หลายปีที่ผ่านมา “ความไม่แน่นอน” เป็นศึกใหญ่ที่ผู้ประกอบการต้องหาทางเอาชนะ End Game ที่เคยอ่านขาดว่าแนวโน้มธุรกิจการค้าจะเป็นอย่างไร กลายเป็นสิ่งที่คาดเดายากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน “วิกฤติ” ที่ต้องเผชิญก็เป็นบททดสอบความแกร่งขององค์กรไม่น้อย และยังเป็นตัวแปร “เบรก” การเติบโตของรายได้ด้วย

หลายปีก่อนเครือสพัฒน์เคยโชว์ตัวเลขรายได้รวมที่ระดับ 2.89 แสนล้านบาท จากราว 300 บริษัทในเครือ ทุกปี สื่อจึงถาม “เสี่ยบุณยสิทธิ์” ว่า ตอนนี้รายได้แตะ 3 แสนล้านบาทหรือยัง คำตอบที่ได้รับ

“ยอดขาย 3 แสนล้านยังไม่ถึง เพราะมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอด พวกเรา(สื่อ)ชอบถามตัวเลข ชั้นไม่ตอบแม้ตัวเลขฝังอยู่ในหัว แต่ทุกอย่างวันนี้บอกว่าจะทำ พรุ่งนี้อาจไม่เอาก็ได้”

เครือสหพัฒน์ ผ่านร้อนหนาวมา 8 ทศวรรษ ขณะที่วิกฤติโควิด-19 เสี่ยบุณยสิทธิ์ เคยให้ทรรศนะว่ารุนแรงสุดในชีวิต เพราะประชาชนทั้งโลกรวมถึงไทยได้รับผลกระทบสาหัสมา

“ทำงานเจอมาหลายวิกฤติ หากเทียบวิกฤติต้มยำกุ้งกับโควิด ผลกระทบโควิดหนักกว่ามาก เพราะยุคต้มยำกุ้งประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ แต่ครั้งนี้เศรษฐกิจ ธุรกิจ องค์กร ประชาชนทุกภาคส่วนถูกกระทบรุนแรงมาก หนักกว่าต้มยำกุ้ง 10 เท่า”

มาปี 2565 สงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อหวอดวิกฤติใหญ่ครั้งใหม่ด้าน “ต้นทุนพุ่ง” กลายเป็นวิฤติอีกรูปแบบที่ให้บทเรียน “รุนแรงรอบ 26 ปี” ทว่า การจะฝ่าโจทย์โหดหินเหล่านี้ได้ เสี่ยบุณยสิทธิ์ ให้ “คาถา” คือ “Change-การเปลี่ยนแปลง” และ “คนรุ่นใหม่” ลุยธุรกิจ

“จะเอาชนะวิกฤติตอนนี้ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง และต้องให้คนรุ่นใหม่ ใช้ความคิดคนรุ่นใหม่มาประยุกต์เคลื่อนธุรกิจ จะใช้ความคิดของคนเก่าๆมานำ จะไม่ค่อยทันสมัย”