AQUA ลุยธุรกิจฟินเทค ตั้งเป้า 2 ปี สู่ “ธนาคารไร้สาขา”

AQUA ลุยธุรกิจฟินเทค ตั้งเป้า 2 ปี สู่ “ธนาคารไร้สาขา”

“อควา” ลุยธุรกิจฟินเทค คาดไตรมาส 4/65 เริ่มปล่อยกู้ “พีทูพี” แตะ 2หมื่นล้านภายใน 3 ปี ลั่น 2 ปี ดันสู่ "Virtual Bank" เชื่อ P2P Lending เข้ามาแก้ปัญหาลูกค้าที่ถูกแบงก์ปฏิเสธ จากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่าสูง !!

หลังจาก “ขาย” ธุรกิจสื่อนอกบ้าน หรือ Out of Home Media เมื่อต้นปี 2565 บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA จึงเริ่มมองหา “ธุรกิจใหม่” (New Business) ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก (Mega Trend) นั่นคือ “ธุรกิจเทคโนโลยีทางด้านการเงิน” (Financial Technology) ถือเป็นก้าวแรกที่ AQUA และบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS เดินหน้าธุรกิจร่วมกัน !!

สะท้อนผ่าน AQUA  ได้เข้าซื้อหุ้น บริษัท เพียร์ ฟอร์ ออล จำกัด หรือ PFA  60% จาก  NEWS  เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจ Peer-to-Peer Lending  (P2P) หรือ “สินเชื่อระหว่างบุคคล แบบไม่ผ่านคนกลาง" 

ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในธุรกิจฟินเทค (FinTech) ล่าสุดส่ง PFA (บริษัทย่อย) เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เนสท์ติดฟลาย จำกัด (Nestify) จำนวน 117,645 หุ้น คิดเป็น 99.99% ของหุ้นทั้งหมดของ Nestifly ในราคารวม 500 ล้านบาท จากบริษัท เฟิร์ส พีทูพี จำกัด และกลุ่มผู้ถือหุ้นของ Nestify

“ฉาย บุนนาค” รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA กล่าวว่า ธุรกิจฟินเทคเป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ ซึ่งก็ตรงกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการ “ลงทุน” ในธุรกิจเมกะเทรนด์ของโลก !! และธุรกิจฟินเทคเป็นสิ่งที่บริษัทมีความสนใจมาโดยตลอด ซึ่งฟินเทคที่บริษัทโฟกัส คือ Peer-to-Peer ( P2P)Lending  ซึ่งบริษัทยังวางแผนผลักดันธุรกิจฟินเทคไปสู่การเป็น Virtual Bank หรือ Neo Bank นิยามง่ายๆ “ธนาคารไร้สาขา” ภายในปี 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ต่อไป เพื่อจัดตั้งธุรกิจดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายในอนาคตที่บริษัทรุกเดินหน้าต่อไป

AQUA ลุยธุรกิจฟินเทค ตั้งเป้า 2 ปี สู่ “ธนาคารไร้สาขา”  ทั้งนี้ บริษัทตัดสินใจเลือกช่องทางลงทุนฟินเทคในรูปแบบ P2P Lending เนื่องจากมองว่าจะเป็นระบบการกู้ยืมเงินที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่มีความต้องการกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่กลับถูกปฏิเสธ หรือแม้กระทั่งสามารถแก้ปัญหาลดการพึ่งพาการกู้หนี้นอกระบบของคนไทยได้ ทั้งรายย่อย และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)

“การตัดสินใจลงทุนฟินเทคแบบ P2P Lending เนื่องจากมองว่าจะเป็นระบบการกู้ยืมเงินที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่มีความต้องการกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่กลับถูกปฏิเสธ หรือแม้กระทั่งสามารถแก้ปัญหาลดการพึ่งพาการกู้หนี้นอกระบบของคนไทย” 

“ชัยพิพัฒน์ แก้วไตรรัตน์” กรรมการผู้จัดการ AQUA กล่าวว่า  การร่วมลงทุนในธุรกิจฟินเทคเป็นเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและเติบโตเป็นอย่างมาก ในช่วงที่ AQUA มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ ได้มองหาสิ่งใหม่นวัตกรรมใหม่ที่จะเข้ามาแทนที่ธุรกิจเดิม ซึ่ง AQUA จึงตัดสินใจเลือกลงทุนฟินเทคในรูปแบบ P2P Lending โดยมองว่าจะเป็นระบบการกู้ยืมเงินที่สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่มีความต้องการกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่กลับถูกปฏิเสธ หรือแก้ปัญหาลดการพึ่งพาการกู้หนี้นอกระบบของคนไทย

โดยปัจจุบัน PFA ได้เป็นผู้ถือสิทธิ์บริหารใน Nestifly ประกอบธุรกิจ P2P ซึ่งเป็นการให้บริการกู้ยืมระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านแพลตฟอร์ม โดยให้บริการผ่านระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางและสนับสนุนการก่อให้เกิดการกู้ยืมระหว่าง “ผู้กู้” และ “ผู้ให้กู้” เป็นการจับคู่ระหว่างผู้ที่ต้องการกู้เงินและผู้ที่ต้องการให้กู้ ซึ่งจะเป็นการกู้ยืมรูปแบบใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินแบบที่คุ้นเคย 

“Nestify เป็นผู้ประกอบการรายแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หลังสามารถผ่านการทดลองในSandbox ของ ธปท. แล้ว จากที่มีทั้งหมด 3 ราย และเราตั้งใจให้ PFA มาช่วยแก้ปัญหาการเงินของคนไทยในระยะยาว” 

สำหรับ การลงทุนในเฟสแรก...ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ เช่น บ้าน รถ โฉนดที่ดิน ใดๆ เพื่อมาค้ำประกัน แต่สามารถใช้เป็นหุ้นใน SET100 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันแทนได้เลย 

โดยบริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในธุรกิจ P2P ในปี 2566 อยู่ที่ 3,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อภายใต้แพลตฟอร์ม Nestify ในไตรมาส 4 ปี 2565 หลังจากที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลิเบอเรเตอร์ จำกัด ได้รับอนุญาตให้เป็นคัสโตเดียน (Custodian) ดูแลและจัดเก็บหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นในการนำมาค้ำประกันในการขอสินเชื่อของลูกค้า

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะมาใช้บริการสินเชื่อจะเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการสินเชื่อไปหมุนเวียนลงทุนต่อ กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ต้องการใช้สินเชื่อเพื่อลงทุนหรือเสริมสภาพคล่อง ซึ่งทำให้ลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น และมีต้นทุนการเงินที่ต่ำ โดยไม่มีขั้นตำในการกู้ และสามารถกู้ได้วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการประเมิน LTV ของหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เป็นหุ้น SET 100 ที่ผู้กู้นำมาค้ำประกัน โดยมีระยะเวลาการกู้ได้นาน 9 เดือน และสามารถรีไฟแนนซ์ได้ต่อเนื่อง

สำหรับรายได้จากธุรกิจ P2P ในปี2566 คาดว่าจะเข้ามาราว 70-80 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของรายได้รวม โดยปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจคลังสินค้าให้เช่า ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจโรงไฟฟ้า และการถือหุ้นใน บมจ. แพลน บี มีเดีย (PLANB) พร้อมกับบริษัทจะมีการเข้าลงทุนกับพันธมิตรเกี่ยวกับธุรกิจศูนย์สุขภาพ ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และธุรกิจ P2P จะเป็นธุรกิจด้านฟินเทคที่เพิ่มเข้ามาในปีหน้า 

ทั้งนี้ อนาคตบริษัทมีแผนต่อยอดธุรกิจ P2P หลังจากเริ่มด้วยการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เป็นหุ้นใน SET 100 ในช่วงเริ่มต้น บริษัทจะวางแผนในการขยายสินทรัพย์ค้ำประกันอื่นๆ ที่นำมาใช้ในการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่มีสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น รถยนต์ ที่ดิน หรือสินทรัพย์ดิจิทัล นำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อเพิ่มเติมในเฟสถัดไป 

โดยวางเป้าหมายในช่วง 3 ปี จะปล่อยสินเชื่อได้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากบริษัทปล่อยสินเชื่อได้ราว 1 หมื่นล้านบาท จะถือว่าเป็นระดับจุดคุ้มทุนในการลงทุนดังกล่าว

“กฤษฎา พฤติภัทร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEWS กล่าวว่า สำหรับการได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ AQUA ซึ่งทาง NEWS เองก็กำลังอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนพร้อมมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแนวใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับบริษัท ถือเป็นก้าวสำคัญที่ NEWS จะได้พัฒนาแผนธุรกิจของบริษัทเองต่อไปในทางที่เราสนใจในอนาคตอีกด้วย

โดยบริษัทกำลังต่อยอดธุรกิจฟินเทคในเรื่องการให้บริการด้านการลงทุน ทั้งในรูปแบบบริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) และ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งตอนนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม กำลังดำเนินการในขั้นตอนสุดท้ายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อที่จะสามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และให้บริการด้านการลงทุนกับประชาชนได้อย่างเต็มที่