การบริหารจัดการวัดในประเทศไทย ในยุค Digital Disruption (2)

การบริหารจัดการวัดในประเทศไทย ในยุค Digital Disruption (2)

สถาบันสงฆ์ในปัจจุบันเกิดปัญหาขึ้นใน 2 เรื่อง คือปัญหาหลักธรรมของพระพุทธศาสนา "ขาดมิติ" ด้านสังคมและด้านจิตวิญญาณ และไม่สอดคล้องกับสังคมยุคปัจจุบัน ที่เป็นสังคม Digital Disruption ทำให้ไม่สามารถตอบปัญหาของสังคมได้

จากรายงานการบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดย ผศ ดร.ณดา จันทร์สม คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2555 ระบุว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการดำเนินงานสนองงานคณะสงฆ์และรัฐโดยการทำนุบำรุง ส่งเสริมกิจการพระศาสนา ให้การอุปถัมภ์ คุ้มครองและส่งเสริมพัฒนางานพระพุทธศาสนา ดูแลรักษา จัดการศาสนสมบัติ มีการกำหนดตัวชี้วัดในการปฏิบัติราชการ 6 ตัวชี้วัด 

ตัวชีวัดที่ 1 จำนวนวัดพัฒนาที่ผ่านเกณฑ์การพัฒนาตามมาตรฐานของ สพศ ในปี 2553 มีจำนวน 12,750 วัด 

ตัวชี้วัดที่ 2 จำนวนวัดที่มีฐานข้อมูลศาสนสมบัติของวัด และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัดครบถ้วน ในปี 2553 มีจำนวน 5,347 วัด

ตัวชี้วัดที่ 3 จำนวนวัดที่มีการรายงานทางการเงินตามมาตรฐานที่กำหนด ในปี 2552 มีจำนวน 1,321 วัด

ตัวชี้วัดที่ 4 จำนวนวัดที่จัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่เป็นมาตรฐานสำหรับวัด ในปี 2553 มีจำนวน 11,179 วัด

ตัวชี้วัดที่ 5 และ ตัวชี้วัดที่ 6 เกี่ยวกับโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และร้อยละที่เพิ่มขึ้นของผู้สอบผ่านธรรมสนามหลวง ในปี 2553 ยังไม่มีข้อมูล

ตัวชี้วัดที่เป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนถึงการบริหารงานของวัดในประเทศไทย คือตัวชี้วัดที่ 1 ถึง 4 เพราะเมื่อเทียบกับจำนวนวัดรวมทั้งหมดในประเทศไทย จำนวน 43,005 วัด ยังมีวัดอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ผ่านเกณฑ์ตามที่สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนดโดยเฉพาะตัวชี้วัดที่ 3 จำนวนวัดที่มีรายงานทางการเงินตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งมีข้อมูลล่าสุดในปี 2552 จำนวน 1,321 วัด เท่านั้น

ตามพระราบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 มาตรา 20,20 ทวิ และ 21 ความหมายของการบริหารงานในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง การดูแลรักษาตนเอง เรียกว่า “กายบริหาร” ไปจนถึงการปกครอง ดูแล รักษา หมู่คณะภายในวัด อันได้แก่ หมู่พระภิกษุ ชื่อว่า “พระสงฆ์” และสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ฆราวาส ที่มีทีอยู่หรือพำนักอยู่ในวัด รวมทั้งการจัดการกิจการของวัด เรียกว่า “การบริหารวัด” และ การปกครองคณะสงฆ์ “ในสังฆมณฑลทั่วประเทศ”

ผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ดูแลศาสนสมบัติของวัดคือ เจ้าอาวาส ศาสนสมบัติของวัดมีทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก ซึ่งได้มาโดยการบริจาคของผู้มีศรัทธาที่ช่วยให้กิจการศาสนามั่นคงถาวร งานสาธารณูปการเป็นงานสำคัญ แต่บางวัดเกิดความขัดแย้งระหว่างวัดกับชาวบ้าน เป็นข่าวที่สร้างความเสื่อมเสียกับพุทธศาสนามาตลอด 

องค์กรปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญคือ ผู้บัญชาการ ระเบียบการ และอุปกรณ์ต่าง อำนาจการบริหารงานของคณะสงฆ์ รวมศูนย์อยู่ที่องค์กรส่วนกลาง ซึ่งมีหน้าที่กำกับเชิงนโยบาย ปัจจุบันมีคณะทำงานต่าง ๆ แล้ว แต่การปกครองสงฆ์ในระดับส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมา ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ในพื้นที่ดำเนินการ จึงควรมีคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรองรับกิจการของสงฆ์ ในระดับท้องถิ่น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระอยู่กับเจ้าคณะแต่ละระดับเพียงรูปเดียว และบางแห่งก็ถูกครอบงำโดยฆราวาสที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ โครงสร้างการปกครองที่รวมศูนย์ปัจจุบัน จึงเป็นโครงสร้างที่ไร้ประสิทธิภาพ 

สอดคล้องกับทัศนะของ คุณเชิดชัย หมื่นภักดี ที่กล่าวไว้ตั้งแต่ปี 2546 ที่มองว่าสถาบันสงฆ์ในปัจจุบันเกิดปัญหาขึ้นใน 2 เรื่อง คือปัญหาหลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่ขาดมิติด้านสังคมและด้านจิตวิญญาณ และไม่สอดคล้องกับสังคมยุคปัจจุบัน ที่เป็นสังคม Digital ทำให้ไม่สามารถตอบปัญหาของสังคมได้