BTS เปิดศึก BEM รอบใหม่ 14 บริษัท ซื้อซองประมูลสายสีส้ม

BTS เปิดศึก BEM รอบใหม่ 14 บริษัท ซื้อซองประมูลสายสีส้ม

รฟม.เปิดรายชื่อเอกชน 14 รายแห่ซื้อซอง ชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) BTS – BEM พร้อมเปิดศึกรอบใหม่ นัดแรกกำหนดประชุมแจงหลักเกณฑ์คัดเลือก 15 มิ.ย.นี้

รายงานข่าวจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ตามที่ รฟม.ได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents: RFP) ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. – 10 มิ.ย. 2565 ทั้งนี้ มีผู้ที่สนใจติดต่อขอซื้อเอกสารประกวดราคารวมจำนวนทั้งสิ้น 14 ราย ดังนี้

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

2. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

3. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

4. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

5. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)

6. China Harbour Engineering Company Limited

7. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

8. โตคิว คอนสตรัคชั่น คัมพานี ลิมิเต็ด

9. Incheon Transit Corporation

10. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน)

11. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

12. RH International (Singapore) Corporation PTE. LTD.

13. Kumagai Gumi Co., LTd.

14. บริษัท ซีเมนต์ โมบิลิตี้ จำกัด

สำหรับขั้นตอนต่อไป รฟม. มีกำหนดการจัดประชุมชี้แจงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในวันที่ 15 มิ.ย.2565 เพื่อชี้แจงรายละเอียดแก่เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอฯ ถึงประเด็นที่ควรทราบเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการหรืองานในสัญญา รวมถึงการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำเอกสารข้อเสนอฯ สำหรับการร่วมลงทุนก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีวงเงินลงทุนรวม 145,265 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,621 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 40 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานโยธา 3,223 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้า 369 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 96,012 ล้านบาท และค่างานระบบและขบวนรถ 31,000 ล้านบาท

โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย –   มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)