หอการค้าหวั่น 5 ปี ส่งออก ‘ทุเรียน’ ไทยวูบ

ม.หอการค้าไทย เผยปี 64 มูลค่าส่งออกทุเรียน 1.8 แสนล้านบาท แซงหน้าข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และมีเงินสะพัดในประเทศกว่า 6.4 แสนล้าน ส่วนปี 65 คาดส่งออกเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท เงินสะพัดในประเทศ 7 แสนล้านบาท

ม.หอการค้าไทย เผยปี 64 มูลค่าส่งออกทุเรียน 1.8 แสนล้านบาท แซงหน้าข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และมีเงินสะพัดในประเทศกว่า 6.4 แสนล้าน ส่วนปี 65 คาดส่งออกเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาท เงินสะพัดในประเทศ 7 แสนล้านบาทแต่คาดในปี 5 ปี ยังเสี่ยงสูง จากส่งออกลดลง ความสัมพันธ์จีนสั่นคลอน บริหารจัดการผลผลิตในประเทศไม่ดี เพื่อนบ้านแย่งส่วนแบ่งตลาด

นายอัทธ์  พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นมา มูลค่าส่งออกทุเรียนของไทยสูงกว่ามูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง โดยทุเรียน มูลค่าอยู่ที่ 187,278 ล้านบาท ขณะที่ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง อยู่ที่ 100,477 ล้านบาท, 91,430 ล้านบาท และ 43,103 ล้านบาทตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีเงินสะพัดในประเทศในห่วงโซ่การผลิตทุเรียนทั้งระบบ ทั้งเกษตรกร ล้ง แรงงาน โลจิสติกส์ ค่าบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ สูงถึง 640,000 ล้านบาท ส่วนปี 65 คาดจะมีมูลค่าส่งออก 200,000 ล้านบาทและมีเงินสะพัดในประเทศ 700,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6%หรือ 60,000 ล้านบาท จากปี 64

อย่างไรก็ตาม จากการที่ศูนย์ได้จัดทำดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย(DURI) ครั้งแรกในโลก พบว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 65-69) ดัชนีมีค่าเท่ากับ51, 54, 57, 55และ60ตามลำดับแสดงว่า ทุเรียนไทยมีความเสี่ยงสูง (ค่าดัชนีมากกว่า 50 หมายถึง ความเสี่ยงสูง, เท่ากับ 50 หมายถึง ปกติ และน้อยกว่า 50 หมายถึง ความเสี่ยงน้อย)
        โดยความเสี่ยงดังกล่าวมาจาก การเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกอย่างมหาศาลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือในปี 64 เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าจากปี 54เพิ่มจากกว่า 600,000 ไร่ เป็นกว่า 900,000 ไร่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก ที่โค่นต้นยางพาราเพื่อปลูกทุเรียน ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 337,648 ตัน จากเดิมที่เฉลี่ย 70,703 ตัน และในปี 69 ผลผลิตจะเพิ่มเป็น 2.9 ล้านตัน หากไม่สามารถบริหารจัดการได้ดี จะซ้ำรอยพืชชนิดอื่น ที่เกษตรกรแห่ปลูกมากจนผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ และประสบปัญหาขาดทุน
        นอกจากนี้ ยังมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มพื้นที่การเพาะปลูก และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะเข้ามาแย่งส่วนตลาดส่งออกของไทยได้ แม้คาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 69 ไทยจะยังครองแชมป์ส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลกด้วยปริมาณ 1.9 ล้านตัน แต่ส่วนแบ่งตลาดอาจลดลงเหลือ76%จากปัจจุบันที่ 85%โดยมาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ลาว จะมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นทั้งหมด เพราะคาดว่า การส่งออกทุเรียนของอาเซียนอื่นจะเพิ่มขึ้น 82.5%หรือ 448,033 ตันในปี 69
         ขณะเดียวกัน หากความสัมพันธ์กับจีนมีปัญหา อาจทำให้จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าทุเรียนอันดับ 1 ของไทย และนำเข้ากว่า 90%ของการส่งออกทุเรียนไทยไปโลก ซึ่งปี 65 คาดนำเข้าราว 850,000-950,000 ตัน ลดการนำเข้าลงได้ และจะทำให้ราคาทุเรียนไทยลดลงทันที โดยคาดว่า หากปี 65-69 จีนนำเข้าทุเรียนไทยน้อยกว่า 10%ราคาขายส่งทุเรียนหมอนทองไทย ณ ตลาดเจียงหนาน ซึ่งเป็นตลาดขายส่งผลไม้ขนาดใหญ่ในจีนตอนใต้ จะอยู่ที่เฉลี่ยกิโลกรัม (กก.) ละ 271 บาท และราคาที่ชาวสวนขายได้หน้าสวน อยู่ที่กก.ละ 136 บาท แต่หากจีนต้องการนำเข้ามากกว่า 15%ราคาขายส่งคาดจะเฉลี่ยที่ กก.ละ 361 บาท
       “ความเสี่ยงทุเรียนไทย นอกจากมาจากปัจจัยหลักข้างต้นแล้ว ยังจะมาจากคุณภาพทุเรียนที่อ่อนหรือแก่เกินไป มีปัญหาทุเรียนประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยแล้วส่งออก ปัญหาการขนส่ง ขาดแคลนแรงงาน ตลาดถูกควบคุมโดยล้ง สภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้อต่อผลผลิต และโรคระบาด ซึ่งจากปัจจัยเหล่านี้ ทำให้คาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทุเรียนไทยมีโอกาสพังได้ 30% จาก 100% หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 37,000 ล้านบาท จากมูลค่าส่งออกปัจจุบันที่ราว 200,000 ล้านบาท”
        อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้ทุเรียนไทยยังคง “ปัง” ไทยต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน ควบคุมคุณภาพการส่งออกให้ดี ไม่ให้เกษตรกรตัดทุเรียนที่อ่อน หรือแก่เกินไป ซึ่งจะช่วยทำให้จีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญ เพิ่มการนำเข้าจากไทยได้ จากปัจจุบัน ที่ชาวจีนบริโภคทุเรียนเพียง 9%ของประชากรทั้งประเทศ แสดงให้เห็นว่า ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีน ขณะเดียวกันไทยต้องมีแผนบริหารจัดการทุเรียนที่แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ เช่น ปริมาณผลผลิต ปริมาณการส่งออก-บริโภคในประเทศ ข้อมูลด้านต่างๆ ของคู่แข่ง