นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เงินเฟ้อพุ่ง กดดัน กนง.เร่งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยปลายปี

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เงินเฟ้อพุ่ง กดดัน กนง.เร่งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยปลายปี

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เงินเฟ้อพุ่ง กดดัน กนง.เร่งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย “เกียรตินาคินภัทร” ชี้เงินเฟ้อพุ่งกดดันปรับนโยบายขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้ “ซีไอเอ็มบี” จ่อปรับเป้าเงินเฟ้อขึ้น “ทีทีบี” หวั่นเงินเฟ้อสูงลากยาวถึงปีหน้า

     คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีกำหนดนัดประชุม ครั้งที่ 3 ของปี 2565 ในวันที่ 8 มิ.ย.2565 ซึ่งจะพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันมีอัตรา 0.5% รวมทั้งจะประกาศกรอบเงินเฟ้อ และประมาณการจีดีพี 2565

      ในขณะที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพ.ค.2565 เท่ากับ 106.62 เทียบช่วงเดียวกันกับปี 2564 เพิ่มขึ้น 7.10% กลับมาทำสถิติสูงสุดรอบ 13 ปี และเมื่อหักอาหารสด และพลังงานออกแล้วทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.28% ส่วนภาพรวมเฉลี่ย 5 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 5.19%
 

หวั่นเงินเฟ้อพุ่งฉุดกำลังซื้อ-บริโภคดิ่ง

      นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ออกมา 7.1% ถือว่าเร่งตัวแรงกว่าที่คาด แต่ยังไม่ถึงระดับพีคสุด โดยระยะข้างหน้าคาดว่าเงินเฟ้อยังมีรูมขยับขึ้นได้ต่อจาก 3 ปัจจัย

     ปัจจัยแรกคือ หากดูต้นทุน PPI หรือ ดัชนีราคาผู้ผลิต ที่รอการส่งผ่านมาสู่ผู้บริโภค ถัดมาคือ ต้นทุนจากน้ำมัน ค่าไฟต่างๆ ที่ทยอยเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้นทุนทุกบาทที่ขยับขึ้น จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งสินค้า สุดท้ายคือ ผลกระทบจาก วิกฤติอาหารโลกที่จะกดดันเงินเฟ้อเร่งขึ้นแรงต่อเนื่อง ทำให้เกิด Second-round effect ได้
 

      ด้านผลพวงจากเงินเฟ้อที่กระทบเศรษฐกิจมี 3 ประเด็น เงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลทำให้อำนาจการซื้อ กำลังจับจ่ายใช้สอยลดลง แม้เศรษฐกิจฟื้นตัว ดังนั้นเหล่านี้อาจกระทบการบริโภคลดลง ถัดมาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากต้นทุนสูงอาจทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าข่าย Stagflation

กนง.เผชิญแรงกดดันมากขึ้น

    ด้านการดำเนินนโยบายการเงิน เชื่อว่า กนง.จะเผชิญแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ล่าสุดธปท.จะยืนยันว่า จะยังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเงินเฟ้อมาจากฝั่งต้นทุน ภายใต้บทบาทของนโยบายการเงินที่มีอย่างจำกัด บวกกับเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีมากนัก

     “การดีเลย์ การทำนโยบายการเงินไปเรื่อยๆ อาจสร้างปัญหาได้ เพราะเงินเฟ้อยิ่งค้างนาน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้นแม้ กนง.ไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ผลของเงินเฟ้อที่ขึ้นแรง บวกกับเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น จะทำให้เห็น กนง.ขึ้นดอกเบี้ยปีนี้แน่นอน โดยจะค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% สิ้นปีนี้ และวันนี้แม้ทางเศรษฐศาสตร์ยังไม่เข้าสู่ Stagflation แต่ในความเป็นจริง เราอาจเริ่มเข้าสู่ภาวะนี้แล้ว”

เงินเฟ้อจ่อเร่งแรงลากยาวถึงปีหน้า

    นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า

      เงินเฟ้อเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 7% ถือว่าเร่งตัวขึ้นแรงกว่าที่คาด โดยเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงต่อเดือนทะลุ 1% ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเงินเฟ้อเร่งขึ้นได้อีก และยังไม่ถึงจุดพีค แต่ที่น่าห่วงคือ เงินเฟ้อกำลังเปลี่ยนสภาพจากผลกระทบที่มาจากน้ำมัน มาเป็นอาหาร หรือ Food inflation ที่จะส่งผลให้ต้นทุนอาหารสูงขึ้นต่อเนื่อง และลากยาวไปถึงสิ้นปีนี้หรือปีหน้า

     นอกจากนี้ จากเศรษฐกิจไทยเริ่มเปิดเมือง การติดโควิด-19 ลดลง ส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้นเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะเร่งขึ้นเป็น 4% จากครึ่งปีแรกขยายตัว 2% ดังนั้นคาดว่าเงินเฟ้อจะได้รับแรงกดดันมากขึ้น ทำให้จะเห็นเงินเฟ้อถึงจุดพีคไตรมาส 3 ปีนี้ และมีโอกาสเห็นเงินเฟ้อทะลุ 7% และมีโอกาสที่เงินเฟ้อไทยปีหน้าทะลุ 2% หากเงินเฟ้อจากอาหารสูงต่อเนื่อง

      “เราต้องปรับประมาณการเงินเฟ้อใหม่ จากเดิมคาดทะลุ 5% จากเงินเฟ้อที่ร้อนแรงต่อเนื่อง และมีโอกาสที่เห็นเงินเฟ้อทะลุ 7% ได้ ดังนั้นต้องจับตาว่าหลังจากนี้ จะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยประชาชนหรือไม่”

     ทั้งนี้แม้เงินเฟ้อจะเร่งแรง แต่คาดว่า กนง.ไม่เปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินวันที่ 8 มิ.ย.นี้ แต่คาดว่า กนง.จะเริ่มส่งสัญญาณเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยไตรมาส 3 ปีนี้ และพร้อมขึ้นดอกเบี้ยปลายปีที่ 0.25%

หวั่นราคาสินค้าแพงกระจายวงกว้าง

    นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า แม้เงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นสู่ 7.1% ถือว่าไม่ได้เกินความคาดหมาย

     แต่เรื่องที่ต้องจับตาคือ เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่ล่าสุดปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย เหล่านี้สะท้อนว่า ผลกระทบจากราคา เริ่มมีการกระจายตัวไปสู่ตะกร้าอื่นๆ มากขึ้น ยิ่งสะท้อนว่าของทุกอย่างเริ่มแพงขึ้น

     ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังคือ การคาดการณ์เงินเฟ้อของคน ที่เพิ่มเร่งขึ้นตาม จะยิ่งกระทบต่อการตั้งราคา ทำให้เงินเฟ้อระยะข้างหน้ายิ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล และต้องจับตา

     “ต้องระวังว่าการคาดการณ์เงินเฟ้อของคน พอคนคิดว่าของแพงแล้ว จะยิ่งกระทบต่อการตั้งราคา ทำให้เงินเฟ้อยิ่งสูงขึ้นไปอีก อย่างสหรัฐ แม้เงินเฟ้อเขาเพิ่มขึ้น แต่ค่าจ้าง รายได้เพิ่ม ทำให้ขึ้นดอกเบี้ยได้ แต่ของเรา เงินเฟ้อมาจากซัพพลาย ไม่ได้มาจากดีมานด์ รายได้ไม่ได้ปรับขึ้นแต่รายจ่ายเพิ่ม ดังนั้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งอาจทำให้ กนง.อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย” 

 

 

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์