ผู้นำ “ซอฟต์พาวเวอร์” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญของใคร

ผู้นำ “ซอฟต์พาวเวอร์” ไม่ใช่เรื่องบังเอิญของใคร

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ ได้นำเสนอแนวทางขับเคลื่อนในแต่ละด้าน เช่น ภาพยนตร์ แฟชั่น โดยถ้ารัฐบาลต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านนี้อย่างจริงจัง ต้องวางแผนดำเนินการให้ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

“ซอฟต์พาวเวอร์” ถูกกำหนดเป็น 1 ในแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบที่รุนแรงมาตั้งแต่ปี 2563 โดยรัฐบาลเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ 4 เรื่อง คือ

1. เทคโนโลยีดิจิทัล

2. อุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน

3. การสร้างเศรษฐกิจจาก BCG Model และ Soft Power

4. การดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงมาพำนักระยะยาวและร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจจากซอฟต์พาวเวอร์ ได้รวมถึงการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นการให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ความเป็นไทยและมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะเป็นแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องหลายด้านและมีความจำเป็นสูงมากที่ต้องใช้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

การกำหนดแนวทางขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ของรัฐบาลมองไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรม 5F ประกอบด้วย

1. Food อาหารไทย

2. Fashion ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นไทย

3. Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์

4. Fighting มวยไทยและศิลปะการป้องกันตัวของไทย

5. Festival เทศกาลประเพณีไทย

ทั้ง 5 ส่วนนำมาต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ โดยหลายครั้งที่แต่ละส่วนเคยเป็นกระแสในตลาดโลก แต่เป็นกระแสที่เกิดชั่วคราวและหายไปหรือถูกพูดถึงน้อยลง

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ ได้นำเสนอแนวทางขับเคลื่อนในแต่ละด้าน เช่น ภาพยนตร์ แฟชั่น โดยถ้ารัฐบาลต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านนี้อย่างจริงจัง ต้องวางแผนดำเนินการให้ชัดเจน เพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งไม่ต่างจากการสร้างแบรนด์ประเทศที่ใช้เวลานาน กว่าจะสร้างการรับรู้ในแต่ละเรื่อง รวมทั้งมีข้อเสนอถึงการกำหนดนโยบายเรื่องนี้ที่ต้องไม่ใช่ลักษณะการกำหนดนโยบายแบบปีต่อปี แต่เป็นการมองระยะยาว 5-10 ปีขึ้นไป

ในอดีตเคยมีความพยายามหลายครั้งที่จะสร้างเศรษฐกิจด้วยซอฟต์พาวเวอร์ โดยที่เห็นชัดคือ โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น เมื่อปี 2547 วางแผนระยะ 3 ปี ใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท มีการจัดเทศกาลแฟชั่นในกรุงเทพฯ รวมทั้งโรดโชว์เมืองแฟชั่นโลกเพื่อสร้างการรับรู้แฟชั่นไทย เช่น อิตาลี แต่สุดท้ายสร้างกรุงเทพฯ เป็นเมืองแฟชั่นไม่ได้ ดังนั้น การใช้งบประมาณอย่างเดียวจึงไม่พอ เพราะสิ่งสำคัญคือการกำหนดแผนงานให้ชัด และสร้างผลลัพธ์อย่างสม่ำเสมอในระยะยาว