“ปรเมศวร์” พร้อมดันพัทยา เมืองน่าอยู่ศูนย์กลาง “อีอีซี”

“ปรเมศวร์” พร้อมดันพัทยา เมืองน่าอยู่ศูนย์กลาง “อีอีซี”

นายกเมืองพัทยา ตั้งธงพัทยาเป็นเมืองน่าอยู่ และศูนย์กลางการลงทุนของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) สานต่อยุทธศาสตร์นีโอพัทยา เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

เมืองพัทยาในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำลังจะได้นายกเมืองพัทยาคนใหม่ ภายหลังจากมีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาเมืองพัทยา เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2565 ปรากฎว่า “กลุ่มเรารักพัทยา” ชนะแบบยกทีม และขณะนี้รอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 

ในขณะที่ “ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์” ยืนยันถึงความพร้อมของทีมงานที่พร้อมทำงานอย่างเต็มที่ตามนโยบาย 15 ด้านเพื่อให้บรรลุ 4 เป้าหมายหลักตามที่ได้หาเสียงไว้ ได้แก่

 

1.เแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การจ้างงาน และช่องทางสร้างรายได้ 

2.การยกระดับคุณภาพชีวิตคนท้องถิ่น มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาน้ำท่วม และการขุดเจาะถนนทั่วเมือง 

3.การพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญเมืองพัทยา 

4.การเตรียมความพร้อมพัฒนาคนให้มีทักษะดิจิทัลและทักษะอื่นที่เกี่ยวข้อง พร้อมเป็นเมืองเป็นศูนย์กลางอีอีซีรองรับการลงทุน

“ปรเมศวร์” เปิดเผยว่า เศรษฐกิจเมืองพัทยามีการพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวกว่า 80% โดยตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2565 เริ่มมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอินเดียเดินทางกลับเข้ามาอีกครั้ง 

รวมถึงมีสัดส่วนคนไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้นตั้งแต่ช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน สะท้อนตัวเลขการจองโรงแรมที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

นอกจากนี้ มองว่าการเริ่มคลายล็อก มาตรการควบคุมการระบาดในสถานบันเทิง ผับ-บาร์ ในวันที่ 1 มิ.ย.2565 จะยิ่งเป็นแรงดึงดูดที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งจะมีการจัดงานอีเวนท์กระตุ้นการท่องเที่ยวในพัทยา ร่วมกับเอกชนตลอดทั้งปี

อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สงครามในยุโรปตะวันออก และนโยบายซีโรโควิดของจีน โดยเชื่อว่าในช่วงปลายปี 2565 จะทยอยกลับมาฟื้นตัวมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ถือเป็นช่วงที่เมืองพัทยาได้เตรียมความพร้อมรับการท่องเที่ยวที่จะกลับมา โดยการสานต่อยุทธศาสตร์พัทยาโฉมใหม่ หรือ “นีโอพัทยา” ที่วางแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับการเติบโตของอีอีซีเน้นการพัฒนาพื้นที่ แหล่งท่องเที่ยว ด้วยการบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐ ท้องถิ่น เอกชน และขยายผลเป็นเขตส่งเสริมพิเศษแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อสร้างเมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล และคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน

ทั้งนี้ได้มีการวางแผนการลงทุนระยะ 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) ที่ผ่านการเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีแล้ว (ครม.) ประกอบด้วย 3 แผนงาน ดังนี้

1.การพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยวสำหรับการพัฒนาเมือง รวมทั้งการผลักดันสมาร์ทซิตี้ การลงทุนโครงข่ายเทคโนโลยี 5G นำร่องสมาร์ทโพลเชื่อมต่อข้อมูลจากกล้องวงจรปิด แก้ปัญหารถติด และเพิ่มความปลอดภัย สู่การบริหารจัดการเมืองรูปแบบดิจิทัล 

รวมถึงการทำเมืองสีเขียว โดยมีการศึกษาแผนร่มกับเอกชนในการเปลี่ยนรถสาธารณะเป็น รถแบตเตอรี่ไฟฟ้า หรือ BEV และการพัฒนาระบบอีวีให้ครอบคลุมทั้งเมือง

ส่วนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว มีโครงการที่เกี่ยวกับการปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิ ถมชายหาดเพิ่มพื้นที่จอดรถ รวมถึงการนำสายไฟ 9 เส้นทางหลักลงดิน ประกอบด้วย เส้นทางสายพัทยาเหนือ พัทยากลาง สุขุมวิท พัทยาสาย 1 พัทยาสาย 2 พัทยาสาย 3 ซอยบัวขาว พัทยาใต้ช่วงที่ 1 และพัทยาใต้ช่วงที่ 2

โครงการพัฒนาตลาดลานโพธิ์นาเกลือ (Old Town นาเกลือ) ตลาดขายอาหารทะเลของกลุ่มประมงพื้นบ้าน สู่การเป็นตลาดอาหารทะเลระดับโลก

โครงการนีโอเกาะล้าน เพื่อความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่ดีขึ้นและมีโมเดลการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมีการปรับปรุงท่าเทียบเรือ ก่อสร้างเตาเผาขยะบนเกาะเพื่อลดปัญหาการสร้างมลพิษจากการฝังกลบ

โครงการเขตส่งเสริมพิเศษด้านการแพทย์ครบวงจร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา

รวมถึงการพัฒนาเป็น “ไมซ์ซิตี้” เตรียมจัดงานระดับโลก อาทิ ไทยแลนด์ อินเตอเนชั่นแนล แอร์โชว์ แสดงความพร้อมของอุตสาหกรรมอากาศยานในอีอีซีที่วางแผนจะจัดในอีก 2 ปีข้างหน้า และการประชุมนานาชาติด้านการวางแผนครอบครัว ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิ บิลและเมลินดา เกตส์ ในช่วงกลางเดือน พ.ย.2565

2.การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา ทำโครงการศึกษารถไฟฟ้ารางเบา (Tram Way) 4 เส้นทาง เชื่อมโยงการเดินทางจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ร่วมกับพัฒนาระบบขนส่งมวลชนท้องถิ่นเมืองพัทยา เช่น รถสองแถว รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถแท็กซี่และรถประจำทาง

3.การพัฒนาระบบระบายน้ำ โดยตัดทางน้ำที่ไหลลงสู่พัทยา ก่อสร้างท่อส่งแรงดันน้ำ ขยายท่อระบายน้ำให้ใหญ่ขึ้นสร้างสถานีสูบน้ำ การขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่มเติมเพื่อผันน้ำออก

“จุดแข็งของพัทยาคือมีศักยภาพในการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายจึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้หลายด้าน ตั้งแต่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างที่โอลด์ทาวน์ นาเกลือ แหล่งขายอาหารทะเลสดโดยกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่ท่องเที่ยวแนวธรรมชาติริมชายหาดและเกาะล้าน รวมทั้งสามารถรองรับการจัดประชุม สัมมนา และการจัดแสดงนิทรรศการ หรือ ไมซ์ซิตี้" 

รวมไปถึงชื่อเสียงด้านการเป็นแหล่งความบันเทิง ถนนคนเดิน สถานที่เที่ยวกลางคืน และสถานที่ท่องเที่ยวแนวครอบครัว อาทิ ธีมพาร์คและสวนน้ำโคลัมเบีย พิคเจอร์ส ที่ก่อสร้างในเฟสแรกเสร็จแล้วเตรียมกำหนดวันเปิด “ปรเมศวร์” พร้อมดันพัทยา เมืองน่าอยู่ศูนย์กลาง “อีอีซี”