'ไทย'แข่ง'อินโดฯ'ชิงฐานผลิต EV ดึงลงทุน 3.6 แสนล้าน รักษาฮับยานยนต์อาเซียน

'ไทย'แข่ง'อินโดฯ'ชิงฐานผลิต EV ดึงลงทุน 3.6 แสนล้าน รักษาฮับยานยนต์อาเซียน

“สุพัฒนพงษ์” เร่งดึงลงทุน “อีวี” ชี้เทสล่ายังไม่สรุปลงทุนอินโดฯ “ชโยทิต” ดันลงทุน 3.6 แสนล้าน ค่ายรถญี่ปุ่นพร้อมปักหลักลงทุนไทยใน 2 ปี เร่งดึงค่ายยุโรป-สหรัฐ ใช้กลยุทธ์ดีมานต์ในประเทศ มั่นใจอีโคซิสเท็มเอื้อลงทุน “คณิศ” ชี้มาตรการสนับสนุนของไทยดีสุดในอาเซียน

ประเทศไทยมีนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีเป้าหมายผลิตรถ EV ในสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศทั้งหมดภายในปี 2030 โดยนอกจากเป็นการตอบโจทย์การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตรงตามเทรนด์โลก ยังเป็นการรักษาฐานการผลิตรถยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมของประเทศ

หลายประเทศในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนิเซีย ต่างก็มีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV ของอาเซียน โดยล่าสุดนายโจโก้ วิโดโด้ ประธานาธิบดีอินโดนิเซีย ได้เดินทางไปพบกับนายอีรอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง เทสลา มอเตอร์ เพื่อชักชวนไปตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาที่อินโดนิเซีย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรณีที่ประธานาธิบดีอินโดนิเซีย มีการพบหารือกับนายอีรอน มัสก์ ซีอีโอของบริษัทเทสล่า ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ นั้นยังไม่ได้ถือว่าเป็นข้อสรุปว่าเทสล่าจะลงทุนผลิตรถ EV ในอินโดนิเซีย ซึ่งรัฐบาลไทยก็มีการหารือกับเทสล่าเช่นกัน ที่จริงแล้วเรามีการพูดคุยกับผู้ผลิตรถยน EV หรือผู้ผลิตรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีนี้ให้มาลงทุนในประเทศไทย

“เราพร้อมที่จะคุยทุกเจ้าเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในไทย เพื่อผลักดันนโยบายนี้ เพราะเรามีเป้าหมายอยู่ในการทำพลังงานสะอาด Zero Emission ที่ต้องมีการสนับสนุนในเรื่องของรถ EV ในประเทศไทย” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ชูจุดขายกระตุ้นตลาดอีวีไทย

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) กล่าวว่า ในการทำงานของทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนมายังประเทศไทยนั้นได้กำหนดอุตสาหกรรมที่ต้องการดึงดูดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย 5 อุตสาหกรรม คือ รถ EV สมาร์ทอิเล็กทรอกนิกส์ ท่องเที่ยวคุณภาพสูง ดิจิทัล และยารักษาโรค 

ทั้งนี้ 3 อุตสาหกรรมแรกนั้นก็มีมูลค่ารวมกันเท่ากับ 50% ของจีดีพีของประเทศ หากเราไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยหรือกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มได้ในที่สุดแล้วเราจะเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

ส่วนการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าได้หารือกับค่ายรถยนต์จำนวนมากทั้งที่มีการลงทุนในประเทศไทย และยังไม่ได้เข้ามาลงทุน พบว่าในส่วนที่ประเทศไทยจะได้เปรียบประเทศอื่น คือ ขนาดของตลาดในประเทศ จึงเริ่มใช้มาตรการเอาตลาดเป็นตัวนำ โดยทำมาตรการจูงใจก่อนให้มีการลดภาษีสรรพสามิต และส่วนลดกับผู้ซื้อรถไฟฟ้าเป็นเงินประมาณ 1.5 แสนบาทต่อคัน ทำให้เรามีตลาดในประเทศ โดยที่ผ่านภายหลังจากออกมาตรการให้ส่วนลดรถไฟฟ้าทำให้ยอดขายรถ EV ในงานมอเตอร์โชว์ครั้งที่ผ่านมาช่วงเดือน มี.ค.มีนยอดขายรถ EV ถึง 30% ของรถทั้งหมดที่ขายได้ในงาน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเพราะบางประเทศนั้นขายรถ EV ทั้งปียังขายไม่ได้เท่านี้

สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมรถ EV ในไทยคาดว่าจะมีเม็ดเงินที่มาลงทุนในประเทศไทยประมาณ 3.6 แสนล้านบาท โดยกลยุทธ์ในการดึงการลงทุนเราเอาดีมานต์ในประเทศมาสู้ว่าเรามีตลาดรถ EV ที่แข็งแรงเหมาะกับการดึงดูดการลงทุน เช่นเดียวกันกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เราก็เริ่มจากดีมานต์ในประเทศ ทำให้ค่ายรถต่างๆนั้นมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย 

คาดเกิดการลงทุน3.6แสนล้าน

วันนี้ไทยต้องเอาดีมานต์ในประเทศเป็นตัวตั้ง และตอนนี้ค่ายรถยนต์ต่างๆก็เริ่มเข้ามา จีน มาแล้ว ญี่ปุ่นก็มาแล้ว และค่ายยุโรปกำลังจะเข้ามาลงทุน ส่วนค่ายรถใหญ่ๆต่างๆที่มีเทคโนโลยีรถ EV เราก็มีการพูดคุยอยู่ก็อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะ เพราะตอนนี้มีมาตรการในเรื่องของส่วนลดเพื่อกระตุ้นการซื้อ และกำลังจะมีมาตรการในเรื่องของแบตเตอรี่ และชาร์จจิ้งสเตชั่นที่จะออกมาเพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้การตัดสินใจลงทุนง่ายขึ้นเพราะระบบนิเวศน์ EV จะครอบคลุมทั้งหมด และมั่นใจว่าในเรื่องของนิเวศน์ของรถ EV ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาไม่นาน

เทสล่ายังไม่สรุปลงทุนอินโดฯ

“ถึงแม้ว่าอินโดฯจะรุกไปทางเทสล่าแต่ก็ยังไม่ได้ตกลงว่าจะมีการลงทุน ส่วนของไทยนั้นเราได้มีการตกลงเข้ามาร่วมโครงการ EV ของโตโยต้า และค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นทั้งประเทศที่จะมาทำ EV ในไทย โดยจากการโรดโชว์ ฮอนด้า นิสสัน บอกว่าภายใน 2 ปีจะเข้ามาลงนามสัญญากับรัฐอย่างแน่นอน เราได้ซัพพายเชนของญี่ปุ่นมาในไทยทั้งหมด และเทสล่าเราก็มีการหารืออยู่ด้วยเช่นกัน”

ม.ล.ชโยทิตกล่าวต่อว่าอุตสาหกรรมรถ EV จะทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับการผลิตสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าได้ และจะเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศจากมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาทให้เพิ่มขึ้นไปอีก 2-3 เท่าตัวได้ในอนาคต เนื่องจากแต่เดิมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ปลายน้ำคือเราทำในเรื่องการประกอบเป็นส่วนใหญ่ แต่การดึงการลงทุนในเรื่อง EV จะทำให้เกิดการผลิตสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นต้นน้ำเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมนี้ เช่น ไมโครชิพ แผ่นเวเฟอร์ (wafer) ซึ่งจะตามมาเมื่อประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถ EV

โดยเทคโนโลยีสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ขณะนี้อยู่ใน 4 ประเทศชั้นนำ ได้แก่ สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งทีมดึงดูดการลงทุนฯก็พยายามที่จะชักชวนให้นักลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เข้าสู่ประเทศไทย

ไทยส่งเสริมดีสุดในอาเซียน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า นโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถ EV ของไทยตอนนี้ถือว่าดีที่สุดในอาเซียน และช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าาอุตสาหกรรมนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแน่นอนและเริ่มมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในเมืองไทย รวมทั้ง BYD Company ผู้ผลิตรถ EV สัญชาติจีนได้ตกลงที่จะมาลงทุนในไทย โดยไทยต้องการให้ต่างชาติเข้ามาในลักษณะการลงทุนขนาดใหญ่ที่ครบทั้งซัพพายเชนเพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย