แนะรับมือ 'ซัพพลายเชนดิสรัปชั่น' วิกฤติสงครามยูเครน - จีนล็อกดาวน์

แนะรับมือ 'ซัพพลายเชนดิสรัปชั่น' วิกฤติสงครามยูเครน - จีนล็อกดาวน์

สศช.ชี้ปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงักกระทบการผลิตไทย ห่วงนโยบายซีโร่โควิดจีนกระทบการผลิตในไทยต่อเนื่องซ้ำเติมปัญหายูเครน หลังพบตัวเลขมณฑลขนาดใหญ่ที่ล็อกดาวน์ในจีนมีสัดส่วนส่งออกสินค้ามายังไทย 72.6% แก้ปัญหาปลดล็อกการผลิต-ขายปุ๋ย ส่วนระยะต่อไปต้องเร่งดึงการลงทุน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ของสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ช่วงปี 2565 เป็นต้นมา ทำให้ทางการจีนกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด และจำกัดการเดินทางที่เข้มงวดมากขึ้น หรือที่เรียกว่านโยบายซีโร่ โควิด-19 เพื่อต้องการให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศมีน้อยที่สุด ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับซัพพลายเชน การผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าปัญหาของการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) ในขณะนี้มีสาเหตุจากทั้งการสู้รบกันระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ทำให้เกิดการขาดแคลนแร่ธาตุหลายอย่างที่ใช้ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ

รวมทั้งการผลิตปุ๋ยในโลกมีปริมาณลดลง เนื่องจากแร่ธาตุที่อยู่ในรัสเซียและยูเครนมีมากเมื่อเกิดการสู้รบ และมีการคว่ำบาตรจำกัดการส่งออกทำให้เกิดปัญหา ผลกระทบที่เกิดกับไทยที่ชัดเจนในเรื่องของราคาพลังงาน การขาดแคลนปุ๋ย ซึ่งมีสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่มีการเริ่มความขัดแย้งขึ้น

แนะรับมือ \'ซัพพลายเชนดิสรัปชั่น\' วิกฤติสงครามยูเครน - จีนล็อกดาวน์ นอกจากนี้การหยุดชะงักของซัพพลายเชนที่ส่งผลกระทบกับการผลิตในประเทศไทย ยังถูกผลกระทบต่อเนื่องเมื่อจีนใช้นโยบายซีโร่โควิด-19 ที่ผ่านมามีการปิดล็อกดาวน์เมืองอุตสาหกรรม และเมืองท่าที่สำคัญ หลายแห่ง เช่น มณฑลเซี่ยงไฮ้ ท่าเรือชิงเต่า (มณฑลซานตง) เมืองเสินเจิ้น (มณฑลกวางตุ้ง) ท่าเรือเซี๊ยะเหมือน (ฆณฑลฟูเจียน) เป็นต้น

ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินธุรกิจ และกิจกรรมการผลิตในพื้นที่เหล่านี้หยุดชะงักลง ส่งผลต่อเนื่องให้สินค้าและวัตถุดิบบางส่วนจากจีนไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อมูลพบว่าในส่วนของประเทศไทย หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการชะงักงันของซัพพลายเชนจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ของจีน

โดยจากการรวมรวมข้อมูลโดย สศช.พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ปริมาณการส่งออกสินค้า และวัตถุดิบจากมณฑลต่างๆของจีนใช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในระดับสูง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง ฟูเจี้ยน ซานตง และเจียงซูซึ่งมีสัดส่วนส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยประมาณ 72.6% ของมูลค่าการส่งออกจากจีนมายังไทยทั้งหมด

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากต้นทุนนำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาพลังงาน และการอ่อนค่าของเงินบาทที่มีการอ่อนค่าลงในช่วงนี้อีกด้วย

โดยสินค้าที่มีปริมาณการส่งออกลดลงมาก ได้แก่ เคมีภัณฑ์ชนิดต่างๆ เซรามิค ปุ๋ย กระจก การะดาษ ไม้ ยาง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด เป็นต้น ซึ่งทำให้ภาคการผลิตของไทยที่ต้องอาศัยสินค้าดังกล่าวจากจีนเริ่มได้รับผลกระทบจากแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในจีน

“จากข้อมูลสินค้านำเข้าสำคัญของไทย พบว่ามีบางกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มที่อาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของซัพพลายเชนในจีน ที่จะมาซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากภาวะสู้รบยูเครน และรัสเซีย ทำให้มีอยู่หลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและส่วนประกอบ คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้า และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และสินค้าจำพวกเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ”

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าสถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนสูงมากขึ้นจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการคว่ำบาตรระหว่างหลายประเทศ ทำให้ประเทศไทยจำเป็นที่ต้องมีการวางแผนพึ่งพาการผลิต และเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น โดยในระยะสั้นส่วนที่สามารถทำได้คือการปลดล็อกการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในขณะนี้การจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือการขายโดยวิสาหกิจชุมชนมีข้อกำหนดในเรื่องใบอนุญาตที่ต้องขออนุญาต ซึ่งมองว่าในขณะนี้อาจจำเป็นต้องปลดล็อกในส่วนนี้ก่อนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้ใช้ปุ๋ยในราคาถูก 

ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดึงดูดการลงทุนซัพพายเชน เรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมนี้จากภายนอก และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานในสาขานี้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเรื่องของการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย

โดยขณะนี้ทีมปฏิบัติการดึงดูดการลงทุนที่มี ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย เป็นหัวหน้าทีม กำลังเร่งเจรจาให้เอกชนรายใหญ่ในกลุ่มนี้เข้ามาลงทุนในไทย โดยมี 4 ประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ไต้หวัน และเกาหลีใต้

ซึ่งการเจรจาจะต้องมีทั้งสิทธิประโยชน์ที่เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิทธิประโยชน์เฉพาะที่จะต้องมีการเจรจาเป็นรายๆไปเพื่อสนับสนุนให้เลือกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยต้องแข่งกับหลายประเทศในอาเซียนที่ต้องการดึงเอาอุตสาหกรรมนี้ไปลงทุนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เวียดนาม หรืออินโดนีเซีย