ททท.ภาคกลางรุกโปรโมทนิชมาร์เก็ต เกาะกระแส "แคมปิ้ง-ตีกอล์ฟ-สายมู" มาแรง!

ททท.ภาคกลางรุกโปรโมทนิชมาร์เก็ต เกาะกระแส "แคมปิ้ง-ตีกอล์ฟ-สายมู" มาแรง!

ภายใต้แคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มุ่งนำเสนอการท่องเที่ยวผ่านประสบการณ์ที่มีคุณค่า ผ่านคอนเซ็ปต์ “เปลี่ยน Catalogue สินค้า เป็น Menu ประสบการณ์” ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละภูมิภาค

เมื่อโฟกัสเฉพาะ “ภาคกลาง” ทาง ททท.ได้ชูแนวคิด “เทรนดี้ C2 ภาคกลาง” ชวนสัมผัสเสน่ห์ของภาคกลางทั้ง 17 จังหวัด ซึ่งมีความหลากหลายทั้งภูเขา ทะเล น้ำตก รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

จุฑาทิพย์ เจริญลาภ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง ททท. กล่าวว่า ททท.ภูมิภาคภาคกลางรุกทำตลาดส่งเสริมการท่องเที่ยวความสนใจเฉพาะกลุ่ม (นิชมาร์เก็ต) เสริมกลุ่มนักท่องเที่ยวกระแสหลัก ได้แก่ “แคมปิ้ง” (Camping) หลังเป็นกระแสแรงมากในตลาดนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19 กว่า 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อประเมินร่วมกับผู้ประกอบการขายสินค้าตลาดแคมปิ้งแล้ว มองว่าตลาดแคมปิ้งไม่น่าจะเป็นแค่กระแสที่เข้ามาแบบหวือหวาสักพักแล้วหายไป แต่เชื่อว่ามีศักยภาพเติบโตได้ในระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป!

“แม้ปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อจากสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง แต่ ททท.มองว่าไม่กระทบต่อการตัดสินใจออกเดินทางของกลุ่มขับรถเพื่อไปแคมปิ้ง เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความตั้งใจจะออกเดินทางอยู่แล้ว โดยอาจจะวางแผนการเดินทางให้ดีและรัดกุมขึ้นเพื่อความคุ้มค่า”

สำหรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวกลุ่มแคมปิ้งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจน Y และวัยทำงาน มีกำลังซื้อสูง พร้อมจับจ่าย ต้องการออกเดินทางเพื่อคลายความเครียดในช่วงสุดสัปดาห์ ด้วยการชวนเพื่อนฝูงหรือครอบครัวไปเที่ยวกันหลายคนหลากวัย พักค้างคืนอย่างน้อย 2 คืน และนิยมเดินทางแวะแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า และคาเฟ่ต่างๆ ในเส้นทางเชื่อมโยง โดยในภาคกลาง 17 จังหวัด ปัจจุบันมีลานกางเต็นท์ทั้งของรัฐและเอกชนรวมกว่า 300 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดสระบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี

ล่าสุด ททท.ได้จัดโครงการ Central See You เสน่ห์กลางใจ” กระตุ้นการเดินทางด้วยกระแสนิยมแห่งเทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ตอบโจทย์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เน้นออกเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ ผ่านกิจกรรม “Bliss Camp เพิ่มพลังชีวิต ติดธรรมชาติ” สร้างนิยามใหม่ของการท่องเที่ยวสร้างสรรค์แนวแคมปิ้งเพื่อเพิ่มพลังบวกและสร้างแรงบันดาลใจเติมเต็มให้ชีวิต โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย.นี้ ณ แก่งลานรัก จ.สระบุรี

ภายในงานมีการจัดโซนกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย โซน Art & Craft กิจกรรมเด็ด 17 จังหวัดภาคกลาง, โซน Showcase กิจกรรมสาธิต ใช้ชีวิตแคมปิ้ง, โซน Activities กิจกรรมสนุก สไตล์ Extreme, โซน Camping ชาวแคมป์กางเต็นท์ พักผ่อนแบบชิลๆ, โซน Food & Drink ร้านค้าชุมชน อาหารและเครื่องดื่ม และโซน Entertainment ขับกล่อมบรรยากาศภายในแคมป์ด้วยเสียงดนตรีและความสนุกสนานจากศิลปินที่มีชื่อเสียง อาทิ สิงโต นำโชค และวงนั่งเล่น 

ททท.ภาคกลางรุกโปรโมทนิชมาร์เก็ต เกาะกระแส \"แคมปิ้ง-ตีกอล์ฟ-สายมู\" มาแรง!

จุฑาทิพย์ เล่าเพิ่มเติมว่า ด้านสินค้าท่องเที่ยวแบบนิชมาร์เก็ตอื่นๆ ของภาคกลาง มี “ตีกอล์ฟ” ซึ่งได้รับความสนใจจากคนไทยมากขึ้น หลัง ททท.และผู้ประกอบการได้จัดโปรโมชั่นร่วมกันเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยใน 17 จังหวัดภาคกลางมีสนามกอล์ฟรวมประมาณ 40 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ใน จ.ปทุมธานี 19 แห่ง นอกจากนั้นกระจายไปใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี จ.พระนครศรีอยุธยา และอื่นๆ

อีกหนึ่งความสนใจเฉพาะคือเส้นทาง “ท่องเที่ยวสายมู” ล่าสุดทาง “วัดจุฬามณี” ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปไหว้ขอพร “ท้าวเวสสุวรรณ” ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 เป็นต้นไป หลังจากต้องปิดชั่วคราวเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 รวมถึงบริหารจัดการด้านต่างๆ ทั้งนี้คาดว่าจะมีคนแห่เดินทางมาไหว้ขอพรไม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อวัน

ทั้งนี้ ททท.ภูมิภาคภาคกลาง คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยมา “เที่ยวภาคกลาง” ตลอดปี 2565 ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 50 ล้านคน-ครั้ง หลังจากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.2565) มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางเที่ยวภาคกลางแล้วกว่า 22.5 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 69,000 ล้านบาท ใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเฉลี่ยที่คนละ 2,022 บาทต่อทริป มีอัตราการเข้าพักในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) เฉลี่ยที่ 60-70% จำนวนวันพำนักเฉลี่ย 1.96 วัน โดยบางจังหวัดมีจำนวนวันพำนักค้างสูงกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าว เช่น ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นจุดหมายยอดนิยม บวกกับเทรนด์คนไทยนิยมท่องเที่ยวไปด้วยและทำงานไปด้วย (Workation) มากขึ้น

ร่วมกับภูมิภาคอื่นๆ สานเป้าหมายผลักดันตลาด “ท่องเที่ยวภายในประเทศ” ในปี 2565 ให้ยอดนักท่องเที่ยวไทยไปถึงเป้า 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้กว่า 656,000 ล้านบาท!