Cash is king or trash? ภาวะเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น นักลงทุนจัดการกับ "เงินสด" อย่างไร

Cash is king or trash? ภาวะเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น นักลงทุนจัดการกับ "เงินสด" อย่างไร

เศรษฐกิจโลกที่กำลังอยู่กับภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งสัญญาณต่อนักลงทุนต้องตอบสนองด้วยการปรับการลงทุนและการถือเงินสด จึงเป็นที่น่าสนใจว่าในสถานการณ์เช่นนี้ Cash is king or trash?

ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง เร่งให้ธนาคารกลางหลายประเทศต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดทิศทางของเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก 

สถานการณ์ข้างต้น นับเป็นสัญญาณที่นักลงทุนต้องจับตามอง เพื่อทำการตัดสินใจในการลงทุนของตนต่อไป แต่เมื่อไม่นานมานี้ นักลงทุนในสหรัฐแห่ถือเงินสดรวมแล้วกว่า 8.7 แสนล้านดอลลาร์ สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2544 หรือสูงสุดในรอบเกือบ 21 ปี สวนทางกับสิ่งควรจะเกิดขึ้นในช่วงภาวะเงินเฟ้อ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งเกิดขึ้นนับเป็นการจัดการพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนสูงสุด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของเงินสดที่ถือของนักลงทุนจึงมีความน่าสนใจ เพราะสามารถสะท้อนผลคาดการณ์สภาพของตลาดและเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นได้

  • การจัดการกับเงินสด สำคัญอย่างไร?  

สำหรับนักลงทุน นอกจากชนิดสินทรัพย์ที่ต้องเลือกลงทุนแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่นักลงทุนมักให้ความสนใจร่วมด้วยคือ จังหวะของการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ  ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ตอบสนองต่อจังหวะดังกล่าวได้ดี คือ สภาพคล่อง (Liquidity) 

สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสุดคงหนีไม่พ้น เงินสด (Cash) ขณะเดียวกัน เงินสดก็เป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น นอกจากนั้น ยังสามารถถูกลดมูลค่าได้อย่างง่ายได้จากภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) 

ตามปกติ การถือเงินสดมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอยู่ 3 ประการ ได้แก่ การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การสำรองเพื่อเหตุฉุกเฉิน และการเก็งกำไร (Speculation) ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว บุคคลที่จะถือเงินสดเพื่อวัตถุประสงค์สุดท้ายนี้ได้ มักจะเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งสูงหรือเป็นนักลงทุน เพราะเงินสดในส่วนนี้จะช่วยให้ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น และทำให้การลงทุนเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 

ถึงอย่างนั้น สัดส่วนเงินสดที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนก็ควรอยู่ในระดับที่พอดี ซึ่งเป็นการพิจารณาตามสถานการณ์ เพราะในบางครั้ง การถือเงินสดในสัดส่วนสูงก็มีส่วนให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากอำนาตของสภาพคล่อง แต่ในทางตรงกันข้าม การถือเงินสดในสัดส่วนสูง จะทำให้นักลงทุนต้องแบกรับต้นทุนค่าเสียโอกาสที่มากเกินไป เพราะสินทรัพย์ประเภทอื่นนั้นมีการเติบโตของผลตอบแทนที่ดีมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ การจัดการกับเงินสดจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งไม่เพียงแค่กับนักลงทุนมืออาชีพ แต่สำคัญบุคคลทั่วไปที่มีการลงทุนเพื่อเสริมความมั่งคั่งก็สามารถนำไปพิจารณาได้เช่นกัน

  • ภาวะเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขึ้น กับการตัดสินใจของนักลงทุน  

ปัจจุบัน ธนาคารกลางของหลายประเทศต่างต้องปรับทิศทางนโยบายการเงินด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดความรุนแรงของภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสหรัฐที่ต้องเผชิญกับตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี เป็นผลให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือ “เฟด” ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.5% ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งในประเทศอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูง ก็มีแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินในทิศทางเดียวกับสหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก็ไม่สามารถทำได้อย่างรุนแรง เพราะนั่นอาจทำให้เกิดภาวะถดถอยลงของเศรษฐกิจ (Recession) ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยจึงออกมาเป็นลักษณะการค่อยๆ ไต่ขึ้น และจะขึ้นไปจนกว่าระดับเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ต้องการ อย่างในสหรัฐคืออัตรา 2%

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจข้างต้น ส่งผลต่อการจัดการ “พอร์ตการลงทุน” ของนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยสิ่งปรากฎคือ นักลงทุนในสหรัฐแห่ถือเงินสดรวมแล้วกว่า 8.7 แสนล้านดอลลาร์ สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในช่วงภาวะเงินเฟ้อที่เงินสดกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ “Cash is trash” หรือสถานการณ์ที่การถือเงินสดให้ผลขาดทุน เพราะเงินสดจะถูกลดมูลค่าลงอย่างรวดเร็วในภาวะเงินเฟ้อสูง

อีกนัยหนึ่ง ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงระดับหนึ่ง บ่งบอกถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน สินทรัพย์อื่นจึงมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า  

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของนักลงทุนไม่ได้เกิดขึ้นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เกิดขึ้นต่อผลคาดการณ์ของสภาพเศรษฐกิจและตลาดที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยปัจจุบัน ระดับเงินเฟ้อสูงเกินกว่าระดับที่มีเสถียรภาพ ธนาคารกลางจึงต้องควบคุมด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

การที่ดอกเบี้ยเข้าสู่สภาวะขาขึ้นเป็นการส่งสัญญาณว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นสุดลงแล้ว เศรษฐกิจกำลังจะเติบโตอย่างชะลอตัวลง เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ซึ่งนักลงทุนรับรู้ถึงสัญญาณดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังทำการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไป สอดคล้องกับผู้จัดการกองทุนที่ให้ความเห็นต่อแบงก์ ออฟ อเมริกา ว่า สาเหตุที่นักลงทุนแห่ถือเงินสด เป็นผลมาจากมุมมองต่อปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่าง  การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของเฟด ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก และรวมไปถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดภาวะ “Stagflation” หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่เงินเฟ้อสูง 

ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่อาจเกิดขึ้น มีผลให้เงินสดตรงอยู่ในสถานการณ์ “Cash is king” หรือสถานการณ์ที่การถือเงินสดอาจสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ คล้ายกับช่วงเริ่มต้นของวิกฤติโควิด-19 ที่นักลงทุนรายใหญ่ในเอเชียเพิ่มการสำรองเงินสดขึ้นมาอยู่ที่ 40% จากเดิมที่ระดับ 30% ก่อนช่วงวิกฤติ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าทำกำไรในสินทรัพย์ทั้งในและนอกตลาด 

หากจะสรุปให้เข้าใจง่ายคือ สถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังถูกกระตุ้น ซึ่งในอนาคตอันใกล้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวหรือเติบโตขึ้น และอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ การถือเงินสดจึงไม่สร้างผลตอบแทนหรือแทบไม่มีค่า 

ในทางตรงข้าม สถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังถูกชะลอการเติบโต สภาพคล่องในระบบจะลดลง และหากเลวร้ายอาจถึงขั้นซบเซาหรือถดถอย เมื่อนักลงทุนคาดว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น การสำรองเงินสดจึงสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้จากโอกาสการทำกำไรในอนาคต  

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไม่ได้มีการตอบสนองในลักษณะเดียวกัน เพราะขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของแต่ละบุคคล การสรุปข้างต้นเป็นเพียงการประเมินสถานการณ์ในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนั้น การจัดการกับเงินสดของนักลงทุนอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเงินสดเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยที่สำคัญอย่าง เป้าหมายและความสามารถในการแบกรับความเสี่ยงของนักลงทุนด้วย

-----------------------------------------------------

อ้างอิง 

นงนุช สิงหเดชะ

นิเวศน์ เหมวชิรวรากร 

ประชาชาติธุรกิจ

Andrea Travillian

Positioning