SCB CIO แนะทยอยซื้อหุ้นกู้เอกชนทั่วโลกระดับ A- ขึ้นไป รับผลตอบแทนสูง

SCB CIO แนะทยอยซื้อหุ้นกู้เอกชนทั่วโลกระดับ A- ขึ้นไป รับผลตอบแทนสูง

SCB CIO ประเมินครึ่งปีหลัง เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดอัตราเร่งลง - เศรษฐกิจสหรัฐชะลอ ส่งผล Yield curve ปรับตัวลง ทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงขึ้น แนะซื้อหุ้นกู้เอกชนทั่วโลกระดับ A-ขึ้นไป รับผลตอบแทนสูง

นายศรชัย สุเนต์ตา   ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment office (SCB CIO )  ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า   ภาพรวมการลงทุนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยง  เช่น ตลาดหุ้นโลก ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงประเมินการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และกองทุนตราสารหนี้ เห็นว่า ระดับราคาในปัจจุบัน เริ่มมีความน่าสนใจ

จากการที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ทั้งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้น และระยะยาวเริ่มปรับตัวขึ้นถึงระดับที่คาดว่ารับข่าวการขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายที่จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในอนาคตตลอดทั้งปี 2022 ไปแล้ว แม้ว่าความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ยังคงมีอยู่ก็ตาม แต่การปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตร และหุ้นกู้เอกชน นับจากนี้ไปจะไม่รุนแรงเหมือนช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา 

อีกทั้งความผันผวนน่าจะทยอยลดลง จากการคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดในไตรมาส 2 นี้ และจะทยอยปรับลดลง ทำให้ผลกระทบโดยตรงต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้โลก ที่ราคาจะปรับตัวลดลงเหมือนช่วง 5 เดือนแรก มีโอกาสน้อยลง

SCB  CIO จึงแนะนำให้เริ่มทยอยลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน และกองทุนตราสารหนี้ ทั้งตราสารต่างประเทศ และตราสารหนี้ไทยที่มีอันดับเครดิตมีความน่าเชื่อถือสูง ( Investment Grade )  เช่น หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มีอันดับตั้งแต่  A – ขึ้นไป  โดยสามารถเพิ่มอายุเฉลี่ยการลงทุน และลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้นได้  

โดยให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกองทุน high yield  กลุ่มตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (Non-Investment Grade) ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยสูงแต่มีระดับ credit rating ต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) เพราะเศรษฐกิจข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอาจจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่มี balance sheet ไม่แข็งแรงได้

สำหรับภาพรวมการลงทุนในตลาดตราสารหนี้โลก ตั้งแต่ต้นปียังคงได้รับผลกระทบจากราคาตราสารหนี้ที่ปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากผลกระทบของทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่รวดเร็ว และขนาดการขึ้นที่ใหญ่กว่าเดิม นำโดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ได้รับผลกระทบราคาหุ้นปรับตัวลดลงมากทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลตอบแทนของตราสารหนี้ในทุกกลุ่มตั้งแต่ต้นปี ติดลบเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ย (duration) ยาว และตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (Non-Investment Grade) รวมถึงตราสารประเภทที่จ่ายผลตอบแทนสูงแต่ถูกจัดอันดับต่ำกว่าอันดับที่ลงทุนได้ (High Yield) 

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบมาจากการที่ Fed มีการเปลี่ยนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่การขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง และรวดเร็วเพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ประกอบกับการที่มีภาวะเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้โลกและสหรัฐ ในช่วงที่เงินเฟ้อ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปะทุความรุนแรงทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ลดขนาดของการลงทุนลง

โดยหันมาเพิ่มการถือครองเงินสด และถือสภาพคล่องมากกว่าระดับสถานการณ์ปกติ ทำให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Government Yield Curve) และเส้นอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยหุ้นกู้ภาคเอกชน (Corporate Yield Curve) ต่างปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ราคาพันธบัตรและหุ้นกู้ภาคเอกชนปรับลดลงมาก (ราคาตราสารหนี้แปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ย)

นายศรชัย    กล่าวต่อไปว่า ตลาดตราสารหนี้โลกรับรู้ผลกระทบ (price in) ในประเด็นดอกเบี้ยขาขึ้นและผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้โลกไปแล้ว มองว่าในปัจจุบันตลาดตราสารหนี้เริ่มกลับมามีความน่าสนใจ สังเกตจากการที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ได้ปรับขึ้นจากระดับเฉลี่ยในช่วงต้นปีที่ 1.5% ต่อปี มาอยู่ที่ระดับ 2.8-3% ต่อปี ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัวในช่วงเวลาเพียง 5 เดือน

ทั้งนี้ SCB CIO ประเมินระดับเงินเฟ้อในสหรัฐ มีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 2 และกำลังจะทยอยปรับลดลงในระยะข้างหน้าถึงแม้เงินเฟ้ออาจปรับลดลงช้ากว่าที่คาดจากเรื่องภาวะสงครามและวิกฤติพลังงานและอาหารที่ยังอาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม  

จึงมองว่าทิศทางภาพใหญ่ของแนวโน้มเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยเริ่มอยู่ในช่วงการทยอยลดอัตราเร่งลง แม้เงินเฟ้อและระดับดอกเบี้ยพันธบัตรยังอยู่ในช่วงขาขึ้น  แต่อัตราการเร่งขึ้นจะทยอยช้าลง และสามารถลดระดับลงได้ในช่วงครึ่งหลังของปีประกอบกับปัจจัยตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐ เริ่มมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดได้ว่าอนาคต เส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve) อาจจะเริ่มทยอยปรับลดลง

รวมถึงโอกาสการลงทุนอยู่ในหุ้นกู้ชั้นดีของบริษัทภาคเอกชนโลก เช่น ตราสารหนี้ระดับ Investment Grade เช่น อันดับ A – เป็นต้นไป มีความน่าสนใจจากผลตอบแทนที่สูงขึ้นมาก นักลงทุนสามารถทยอยกลับเข้ามาลงทุนได้ อย่างไรก็ดี แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกลุ่มตราสาร Non-Investment Grade

เนื่องจากมีโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ (default rate) อาจเพิ่มขึ้นได้ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว รวมถึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนของจีน โดยเฉพาะหุ้นกู้ High Yield ของจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมองเศรษฐกิจจีนอยู่ในแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของการระบาดในจีนและการกลับมาใช้นโยบายปิดเมือง

ด้านหุ้นกู้ภายในประเทศไทย เช่น หุ้นกู้ภาคเอกชน มองว่าดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของไทยได้ปรับขึ้นตามดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ ไปแล้วสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในตลาดทั่วโลกจากเงินเฟ้อสูง แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่ปรับขึ้นก็ตาม เพราะเศรษฐกิจไทย พึ่งเริ่มฟื้นตัวและค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า

อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ตลาดตราสารหนี้ไทยจึงเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งจากดอกเบี้ยนโยบายไทยที่จะขึ้นช้ากว่าเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศอื่น

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ และหากจะมีการปรับขึ้น เราคาดว่าระดับการขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายไทย จะน้อยกว่าประเทศสหรัฐ ดังนั้นการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนไทยที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ investment grade เช่นอันดับ A – เป็นต้นไป จึงน่าสนใจทยอยเข้าลงทุนเช่นกัน

SCB CIO แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ ต้องพิจารณาทั้งจากสัดส่วนการลงทุน และอายุเฉลี่ยตราสารในการลงทุน แนะจัดสัดส่วนประเภทของตราสารหนี้ให้เหมาะกับความเสี่ยงของการลงทุน โดยพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือ และประเภทของตราสาร ด้านอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นรุนแรงก่อนหน้า จะเน้นอายุเฉลี่ยของตราสารที่สั้นไม่เกิน 1-2 ปี แต่ในระยะข้างหน้า แนะนำสามารถเพิ่มอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ขึ้นได้

รวมทั้งทยอยเพิ่ม duration ของพอร์ตการลงทุน เน้นเลือกหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เช่น อันดับตั้งแต่ A- ขึ้นไปเนื่องจากค่อนข้างมีความปลอดภัยสูง และคาดว่าจะมีความสามารถในการชำระหนี้ และจ่ายดอกเบี้ยได้แม้ในช่วงเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ทั้งนี้ จึงมองว่าการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และ ตราสารหนี้โลก และตราสารหนี้ไทยที่มีคุณภาพตราสารดี (Investment Grade)

อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงด้านต่ำ (downside risk) ที่น้อยกว่าช่วงต้นปี อย่างไรก็ดี ยังแนะนำหลีกเลี่ยงกลุ่มตราสารหนี้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (Non-Investment Grade) และตราสารหนี้ที่ต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) เนื่องจากอาจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นได้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์