นายกฯ จ่อถก ‘ชัชชาติ’ ปมต่อสัมปทานสายสีเขียว

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุ การพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. คนใหม่ แสดงความไม่เห็นด้วยนั้น จะมีการพิจารณากันต่อไปต้องคุยกันต่อ

“ก็ต้องคุยกันวันนี้เปลี่ยนผู้ว่ากรุงเทพมหานครใหม่แล้วใช่ไหมมันเป็นภาระที่ต่อเนื่องไงก็ฝากช่วยกันแก้ไขให้มันเดินได้ก็แล้วกันทำให้มันถูกต้องเท่านั้นเองผมก็ไม่ได้ว่าผิดหรือถูกหลายอย่างมันอยู่ในอำนาจในกรอบของคณะกรรมการทั้งนั้นแหละนายกฯก็ให้นโยบายไปทำ ไอ้โน่นไอ้นี่อันนี้ควรให้ทำ ครม.อนุมัติไปแต่ทุกคนก็ต้องไปทำตามกฎหมายที่มีอยู่ต้องรับผิดชอบเข้าใจไหม”

ส่วนการเปลี่ยนผู้ว่ากทม.จะเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาหรือไม่นั้น “ไม่มีมั้งจะมีได้ไงถ้าคุยกันมันก็จบมันเป็นระบบที่ต้องทำงานด้วยกันอยู่แล้ว”

ส่วนประเด็นที่ ดร.ชัชชาติ ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานอยากให้มีการนำมาพิจารณากันใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ยังไม่ได้ยินจากเขา เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูมีกระทรวงมหาดไทย คมนาคม รฟม.ผู้ได้สัมปทานทำนองนี้ก็คุยกันแต่ข้อสำคัญ คือ ยิ่งช้าก็เสียประโยชน์ประชาชนก็เดือดร้อนเพราะ ฉะนั้นเราก็อยากให้ทุกอย่างมันสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือด้วยกันทุกฝ่ายไม่ว่าจะใครก็ตามผมไม่ได้เป็นศัตรูกับใครอยู่แล้วแต่ผมทำงานด้วยหลักการด้วยกฎหมายด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่ผมต้องระวังอย่างที่สุด

ด้าน ดร.ชัชชาติ ระบุ อยากให้มีการแข่งขันราคาถึงจะมีความเป็นธรรม อยากให้ทำตามระบบ บังคับใช้ พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ จึงต้องคิดให้รอบคอบหลังจากนี้จะทำหนังสือชี้แจงเข้าไปยังรัฐบาล เพราะหากมีมติ ครม.ออกไปแล้วจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
สำหรับการพิจารณาดังกล่าวจะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะการพิจารณาประเด็นถึงความจำเป็นที่ต้องต่อสัญญาสัมปทนให้เอกชน 30 ปี โดยไม่ผ่านการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งควรมีการดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวที่มีการกำหนดขั้นตอนการเจรจาไว้แล้ว

ส่วนการชำระหนี้ค่าก่อสร้างให้กับรฟม.ที่เป็นผู้ก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบเช่นเดียวกัน ซึ่งในการประชุม ครม.ช่วงที่ผ่านมามีความเห็นขัดแย้งกันจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาด้วยเหตุผล 
โดยเฉพาะในประเด็นมูลหนี้ของกรุงเทพมหานครที่ต้องชำระ รวมถึงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และการต่อสัญญาสัมปทานที่ไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งการดำเนินการคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว อาจจะผ่านการพิจารณาไม่ละเอียด

ด้านสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า อาจต้องใช้เวลาในการหารือเรื่องภาระหนี้สินที่ แทม.ติดค้าง เพราะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ยังไม่ได้เข้ามาเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ 

ส่วนกรณีการเจรจาต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทราบว่าปัจจุบันเรื่องอยู่ในกระบวนการของกระทรวงมหาดไทยเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.

ส่วนภาระหนี้สินระหว่างกรุงเทพมหานครกับบีทีเอส ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 23 พ.ค.2565 รวมจำนวนประมาณ 40,000 ล้านบาทแล้ว ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1.ค่าจ้างเดินรถและบำรุงรักษา (08M) ส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 3,710 ล้านบาท ส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 13,343 ล้านบาท 
2.ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 20,088 ล้านบาท โดยปัจจุบันบีทีเอสได้ทวงถามหนี้กับ กทม.มาแล้วหลายครั้ง และได้ยื่นฟ้องเพื่อให้ กทม.จ่ายหนี้ในส่วนของค่าจ้างเดินรถที่ขณะนี้เป็นจำนวน 13,343 ล้านบาทแล้ว

ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครยังมีภาระหนี้ที่ต้องชำระกับบีทีเอสอีก แบ่งเป็น ภาระเงินต้นงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต ที่กรุงเทพมหานครรับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2561 จำนวน 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยงานโยธา รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ปี 2564-2572 ประมาณ 10,000 ล้านบาท