สงครามราคา "แอร์ไลน์" แผ่ว! พักฟื้นแผลโควิด รักษาจุดคุ้มทุน

สงครามราคา "แอร์ไลน์" แผ่ว!  พักฟื้นแผลโควิด รักษาจุดคุ้มทุน

แนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจ “สายการบิน” ในยุคฟื้นตัวจากบาดแผลสาหัส “โควิด-19” ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 เป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างยิ่ง! ว่าบรรดาสายการบินจะปรับตัวด้านการทำตลาด อัดแคมเปญโปรโมชั่น และควบคุมต้นทุนอย่างไร?

ท่ามกลางปัจจัยลบห้อมล้อมมากมาย โดยเฉพาะปัญหา “เงินเฟ้อ” ที่เข้ามาบั่นทอนกำลังซื้อของนักท่องเที่ยว

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า  ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทุกสายการบินต่างบาดเจ็บหนัก! แม้การแข่งขันด้านราคาจะยังคงมีอยู่ แต่ไม่รุนแรงเท่ายุคก่อนโควิด โดยแนวทางการทำราคาตั๋วโดยสารหลังจากนี้จะเน้นทำให้ผู้โดยสารได้รับ “ความคุ้มค่า” ควบคู่กับการคำนึงถึง “ความคุ้มทุน” ของผู้ประกอบการเพื่อให้สายการบินอยู่ได้เช่นกัน!

“สมาคมฯ มองว่า ราคาตั๋วเครื่องบิน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของผู้ใช้บริการ สายการบินต่างๆ จะกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้นด้วยการออกโปรโมชั่นราคาตั๋วเครื่องบิน แต่จะมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น”

สอดรับเทรนด์ของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ไม่ได้มองเฉพาะด้านราคาเเล้ว เเต่ให้ความสำคัญกับ คุณภาพบริการ มาตรฐานความปลอดภัย ความตรงต่อเวลา หรือสายการบินที่สามารถสร้างความโดดเด่นเฉพาะ  ถือเป็นการก้าวสู่ยุคใหม่ในการเเข่งขันที่น่าสนใจ 

ขณะเดียวกันสายการบินสมาชิกหลายรายได้ริเริ่มกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ หรือต่อยอดโมเดลทางธุรกิจเพื่อสร้างรายได้จากทางอื่น สร้างเสถียรภาพแก่ธุรกิจเเละเติบโตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

สงครามราคาน่าจะลดลง! พุฒิพงศ์ เชื่อเช่นนั้น เพราะเงื่อนไขสำคัญนั่นคือ สายการบินมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 

โดยเฉพาะหากมาตรการการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ  หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” อัตราคนละ 300 บาท มีผลบังคับใช้ในครึ่งปีหลัง สายการบินจะต้องกลับมาทบทวนราคาตั๋วเครื่องบินขาเข้าในประเทศอีกครั้ง เนื่องจากต้องเก็บค่าธรรมเนียมนี้เพิ่มขึ้น 300 บาทต่อผู้โดยสารต่างชาติ 1 คนที่เดินทางเข้าประเทศ

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ เชื่อมั่นว่า “การเดินทางทางอากาศ” จะยังเป็นที่นิยม เพราะถือเป็นประเภทการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว มีความปลอดภัยสูง และหลังจากนี้นโยบายทุกประเทศน่าจะปรับให้ “อยู่ร่วมกับโควิด-19” นี้ได้

เมื่อสถานการณ์ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ประเทศต่างๆ “เปิดประเทศ” เต็มที่!! ผ่อนคลายมาตรการที่เหมาะสม ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นเเละบรรยากาศการท่องเที่ยวกลับคืนมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเเละการบินเป็นเครื่องยนต์สร้างโอกาสเชื่อมโยงเศรษฐกิจในธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ยิ่งการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็ว ยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ในฐานะ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทย พุฒิพงศ์ ประเมินปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจสายการบินในช่วงนี้ เริ่มจาก “ปัจจัยบวก” มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลง ผู้โดยสารส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน ทำให้มีความเชื่อมั่นในการเดินทางมากขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของภาครัฐที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าออกประเทศไทยได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

จากวิกฤตินี้ทำให้หลายๆ สายการบินให้ความสำคัญกับเรื่องไอทีและดิจิทัลมากขึ้น มีการลงทุนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และการขายบัตรโดยสาร รวมไปถึงการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเพื่อลดต้นทุนและขยายฐานลูกค้า การนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและสร้างประสบการณ์การเดินทางใหม่ๆ อาทิ เครื่องเช็กอินอัตโนมัติ ทำให้คนรู้สึกอยากเดินทางมากขึ้น

ส่วน “ปัจจัยลบ” มีทั้งเรื่องสถานการณ์ “น้ำมันแพง” อันเนื่องมาจากวิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการบินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องภาวะ “เงินเฟ้อ” ทำให้ความต้องการการเดินทางของผู้โดยสารในประเทศชะลอตัวลง ขณะที่สายการบินมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเกี่ยวกับมาตรฐานสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้โดยสารและพนักงานเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนในการปฏิบัติการบินมากยิ่งขึ้น

ด้านปัจจัยที่ผู้ประกอบการสายการบิน “กังวลที่สุด” คือ “ต้นทุนการประกอบธุรกิจ” ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เป็นต้นทุนหลักของสายการบิน และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลยืดเยื้อ ขณะเดียวกันจากวิกฤติที่ผ่านมาทำให้สายการบินต้องแบกรับต้นทุนในการดำเนินงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารและพนักงานผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงต้นทุนในด้านต่างๆ ในการปฏิบัติการบินที่สูงขึ้น ทั้งนี้ยังกังวลปัจจัยด้านบุคลากรทางการบินที่อาจจะไม่เพียงพอต่อปริมาณงานในอนาคต หากอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวกลับมาได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ หากสถานการณ์เงินเฟ้อหรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ยืดเยื้อต่อเนื่องยาวนาน จะไม่ส่งผลกระทบรุนเเรงมาก ยิ่งธุรกิจสายการบินผ่านผลกระทบที่หนักที่สุดจากสถานการณ์โควิด-19 มาเเล้ว จะมีเเผนสำรองเเละภูมิคุ้มกันที่ดีในการปรับตัว หรือหาทางรอดอื่นๆ ให้กับธุรกิจได้

โดยสายการบินยังมีความจำเป็นในการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด! ให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้ประโยชน์จากเครื่องบิน (Aircraft Utilization) ให้ดีกว่าเดิม ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในองค์กร รวมไปถึงการขยายความร่วมมือกับสายการบินอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งต่อผู้โดยสารระหว่างกัน

สำหรับผลกระทบด้านการท่องเที่ยวเดินทางในปี 2565 ของ “ตลาดนักท่องเที่ยวไทย” เชื่อว่าคนไทยมีความต้องการในการเดินทางที่สูง เนื่องจากการที่ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงแม้ว่าสภาวะเงินเฟ้ออาจจะทำให้คิดไตร่ตรองมากขึ้น แต่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศยังคงคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป

ส่วน “ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ” ยังคงเชื่อมั่นประเทศไทยว่าจะเป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ยอดนิยมของนักเดินทางทั่วโลก เพราะถือเป็นจุดหมายปลายทางที่งดงามเเละมีความคุ้มค่า (Value for Money) อาจจะใช้เวลาในการกลับมานานสักนิด แต่เชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเลือกเดินทางมาเที่ยวไทยอยู่ดีในอนาคต

พุฒิพงศ์ ย้ำว่า สมาคมฯ ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิด ทำให้มีหลายมาตรการที่ถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศซึ่งทำให้ประเทศไทยเริ่มที่จะเห็นการฟื้นตัวจากที่มีนักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มาตรการช่วยเหลือสายการบินด้านต่างๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมการจอดอากาศยาน และค่าธรรมเนียมที่เก็บอากาศยาน รวมถึงมาตรการการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในเส้นทางบินภายในประเทศของทุกสายการบินในสภาวะวิกฤตนี้ได้อย่างมาก

สุดท้ายนี้ อยากให้ภาครัฐ “ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือต่างๆ” เช่น การลดค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากสายการบิน อาทิ ค่าเทียบจอดเครื่องบิน และค่าขึ้น-ลงเครื่องบิน รวมถึงบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องออกไปอีกสักระยะ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้สายการบิน ทำให้สายการบินสามารถดำเนินธุรกิจให้บริการผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง และกลับมาฟื้นตัวสามารถรองรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้นของผู้โดยสารต่อไปในอนาคต