"ตลาดหุ้นจีน" หรือจะเป็น "โอกาส" ท่ามกลางวิกฤติ

"ตลาดหุ้นจีน" หรือจะเป็น "โอกาส" ท่ามกลางวิกฤติ

แม้ตลาดหุ้นจีนจะโดนปัจจัยกดดันค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็มีแนวโน้มที่อาจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในระยะข้างหน้าจากปัจจัยหนุนต่างๆ ซึ่งปัจจัยหนุนจะมีอะไรบ้างนั้น ติดตามได้จากบทความนี้

ช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นหลายประเทศเผชิญกับภาวะความผันผวนจากปัจจัยกดดันหลักคือ การปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อส่งผลให้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกหลายแห่งต้องกลับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน โดยดอกเบี้ยที่เคยอยู่ในระดับต่ำเริ่มปรับตัวเป็นขาขึ้น ส่งผลให้มีแรงเทขายออกมาในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดหุ้นในฝั่งของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีการปรับตัวลดลงกว่า 8-15% นับตั้งแต่ต้นปี

ฝั่งของตลาดหุ้นจีนนั้น แม้จะมีปัญหาเงินเฟ้อน้อยกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนยังคงมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปีทีแล้ว โดย YTD CSI300-19.04%, HSCEI-16.24%, CQQQ-28.78%, CHIQ-25.86 (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พ.ค. 2565) ซึ่งการที่ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลง โดยหลักๆ เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐยังคงใช้นโยบายเข้มงวดในการคุม COVID โดยมีการ Lockdown ในเมืองเซียงไฮ้มากกว่า 6 สัปดาห์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ บวกกับการเข้ามาจัดระเบียบทางธุรกิจของภาครัฐตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างผลกระทบต่อการเติบโตของกำไรของหุ้นในกลุ่ม Tech และเป็นปัจจัยที่ยังกดดันให้หุ้นในกลุ่ม Tech ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลก YTD (%Chg)

\"ตลาดหุ้นจีน\" หรือจะเป็น \"โอกาส\" ท่ามกลางวิกฤติ

Source: Investing as of 19 May 2022

สำหรับประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ ล่าสุดนักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs (GS) ได้มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้ลง เหลือเติบโตเพียง 4% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเป้าหมายของทางการจีนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาแย่กว่าที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ ผลกระทบของการใช้นโยบาย (Zero-COVID) ในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำให้ภาคการผลิตและการบริโภคของจีนในเดือนเมษายน เติบโตชะลอตัวลงแรง โดยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว -2.9% y-y ขณะที่ตัวเลขค้าปลีกหดตัวถึง -11.1% ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดที่ -6.1% ซึ่งนอกจากนักวิเคราะห์จาก GS แล้ว นักวิเคราะห์จากค่ายอื่นอย่าง Citi, JP Morgan และ Morgan Stanley ก็ได้ทยอยออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ลงเช่นกัน โดยมองการเติบโตเหลือเพียง 4.2–4.3% ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าอาจจะโตได้ที่ราว 5%

ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของจีนเดือนเมษายน ออกมาชะลอตัว ผลกระทบจากมาตรการ Lockdown

\"ตลาดหุ้นจีน\" หรือจะเป็น \"โอกาส\" ท่ามกลางวิกฤติ

Source: Bloomberg

แม้ตลาดหุ้นจีนจะโดนปัจจัยกดดันค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา แต่มองว่าตลาดหุ้นจีนได้ price in ปัจจัยลบไปมากแล้ว และมีแนวโน้มที่อาจจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นในระยะข้างหน้า โดยมีปัจจัยหนุนดังนี้

  1. การกลับมาเปิดเศรษฐกิจในหัวเมืองสำคัญ สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เซี่ยงไฮ้วางแผนที่จะยกเลิกมาตรการ Lockdown ที่กินเวลากว่า 6 สัปดาห์ และเตรียมเข้าสู่สภาวะปกติภายในวันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป โดยรองนายกเทศมนตรีเมืองเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า เซี่ยงไฮ้จะค่อยๆ เปิดเมืองทีละส่วน ขณะที่มาตรการป้องกัน COVID ส่วนใหญ่จะยังใช้ต่อไปจนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม เพื่อควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้เร่งตัวขึ้นก่อนการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยยอดผู้ติดเชื้อในเมืองเซี่ยงไฮ้ (ค่าเฉลี่ย 7 วัน) อยู่ที่ 140 ราย (ณ วันที่ 18 พฤษภาคม)
  2. ประธานาธิบดี Biden เตรียมพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าจากจีนเพื่อชะลอเงินเฟ้อ จากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนเมษายนที่ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 8.3% ทำให้ ประธานาธิบดี Biden ได้มีการกล่าวว่า จะมีการพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ได้มีการเรียกเก็บในสมัย ประธานาธิบดี Trump ลง เพื่อช่วยชะลอเงินเฟ้อ ซึ่งหากสหรัฐฯ สามารถปรับลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนได้จริง คาดว่าจะทำให้การส่งออกของจีนเติบโตได้ดีขึ้น และจะเป็นอีกตัวช่วยนึงที่หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้นในระยะข้างหน้า
  3. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดย PBOC และประธานาธิบดี Xi ยังเน้นย้ำในเรื่องของการผ่อนคลายนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงคาดการณ์ว่าอาจจะเห็น PBOC กลับมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลด RRR และอัตราดอกเบี้ย Loan Prime Rate ลงในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีแผนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่ง พลังงานและน้ำทั่วประเทศรวมถึงยังมีแผนฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ Lockdown เพื่อหนุนตัวเลข GDP ให้บรรลุเป้าหมาย หากอิงจากข้อมูลของ Bloomberg คาดว่าในปี 2022 รัฐบาลจีนจะใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 35.5 trillion–yuan ($5.3 trillion) หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีนที่มีมูลค่า $17 trillion
  4. นักวิเคราะห์เริ่มกลับมาปรับมุมมองการลงทุนต่อหุ้น Tech จีน โดยล่าสุดนักวิเคราะห์จาก JP Morgan ได้เปลี่ยนมุมมองการลงทุนในหุ้นจีนโดยกลับมา Overweight การลงทุนในหุ้น Tech จีน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีมุมมองว่าหุ้น Tech จีนยังไม่น่าเข้าลงทุน โดยครั้งนี้ได้มองว่าหุ้นอย่าง Tencent, Alibaba, Meituan, JD, Pinduoduo และ NetEase เป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจ โดยให้เหตุผลว่าความไม่แน่นอนจากการออกกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายลง ด้านประธานาธิบดี Xi Jinping ได้ออกมาสนับสนุนธุรกิจออนไลน์ "Platform Economy" ทั้งในส่วนที่เป็น Social Media ไปจนถึง E-Commerce ล่าสุดรองนายก Liu He ของจีน ออกมากล่าวว่า จะสนับสนุนการพัฒนาของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมให้มีการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ขณะเดียวกันความเสี่ยงที่หุ้นจีนที่จะถูก Delist จากสหรัฐฯ ลดลง แรงเทขายในตลาดหุ้นจีนเริ่มลดลง และราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งเริ่มกลับมายืนได้
  5. Valuation ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก อิงจาก Forward P/E ของดัชนี MSCI China ปัจจุบันกลับมาเทรดที่ระดับต่ำกว่า -1.0 SD ไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ถูกมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง สะท้อนว่าตลาดได้ Price in ปัจจัยลบไปพอสมควร ในระยะข้างหน้าจากการที่รัฐบาลจีนเตรียมปลดมาตรการ Lockdown และน่าจะมีแนวโน้มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทำให้คาดว่าจะเห็นการกลับมาฟื้นตัวของตลาดที่ดีขึ้นได้ในระยะข้างหน้า

\"ตลาดหุ้นจีน\" หรือจะเป็น \"โอกาส\" ท่ามกลางวิกฤติ

Source: Bloomberg as of 19 May 2022

ที่มา: Bloomberg, Reuters , CNBC, Investing & Goldman Sachs

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds