‘โรแยลพลัส’ ไอพีโอน้องใหม่ รุกขยายโรงงาน - เครื่องดื่มโต

‘โรแยลพลัส’ ไอพีโอน้องใหม่ รุกขยายโรงงาน - เครื่องดื่มโต

จากผู้ประกอบการ “ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์”(เครื่องเล่นเกม) มุ่งหน้าสู่ “ธุรกิจใหม่” สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และยาวนานอย่าง “เครื่องดื่มน้ำผลไม้” โดยเฉพาะมะพร้าวที่มีอัตราการเติบโตระดับตัวเลขสองหลักในตลาดต่างประเทศที่มาหุ้นไอพีโอน้องใหม่

         

บริษัท โรแยลพลัส จำกัด (มหาชน) หรือ PLUS ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรายใหญ่ไอพีโอน้องใหม่กำลังจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 170 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 4.50 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (Par value) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 25.4% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ซึ่งจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)วันที่ 20 พ.ค.2565

        โดย ณ ปัจจุบันมีสินค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ “กลุ่มน้ำผลไม้” ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว “แบรนด์Coco Royal” เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว ภายใต้แบรนด์ของบริษัท“แบรนด์Coco Royal” และ “เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมเม็ดแมงลัก”ภายใต้ แบรนด์ Nita เครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมเมล็ดเชีย ภายใต้แบรนด์ Coco Royal

และ “กลุ่มเครื่องดื่มทั่วไป” อย่างเช่น ชานม แบรนด์ของบริษัทได้แก่ Mabu เครื่องดื่มวิตามิน แบรนด์ของบริษัทได้แก่ C-Boom เครื่องดื่มอื่นๆ เช่น นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มกาแฟผสมน้ำนมมะพร้าว แบรนด์ของบริษัทได้แก่ Coco Coffe

       “พลแสง แซ่เบ๊” กรรมการผู้อำนวยการ PLUS ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การตัดสินใจนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครั้งนี้ !! เขายอมรับว่าเพราะต้องการแก้ไขปัญหา “ข้อจำกัด” การเติบโตธุรกิจจากปัญหาเงินลงทุนเพราะว่าบริษัทจำเป็นต้องมีเงินระดมทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ สะท้อนผ่านเงินระดมทุนจะนำไป ใช้ลงทุนใน “โครงการขยายโรงงาน” และ “ลงทุนเครื่องจักร” เพิ่มเติม เนื่องจากอดีตบริษัทต้องรอเงินกู้จากธนาคาร (แบงก์) ในการขยายการลงทุนแต่ละครั้งซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างนานมาก ส่งผลให้บางครั้งบริษัทต้องพลาดโอกาสในการเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนที่เหลือชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต ยกระดับมาตรฐานของบริษัทเข้าสู่มาตรฐานสากล เพิ่มความน่าเชื่อถือในด้านภาพลักษณ์ ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและคู่ค้า รวมถึงเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันที่รอบด้าน

    เขาบอกต่อว่า หลังได้เงินระดมทุนบริษัทมีเป้าหมาย 3-5 ปีข้างหน้า (2565-2569) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 30% สะท้อนผ่านการเติบทั้งสินค้าเดิมและสินค้าใหม่ๆ โดย “สินค้าใหม่” บริษัทกำลังลงทุนในเครื่องดื่มประเภท “แพลนต์เบส” (Plant-based)เนื่องจากมีการเติบโตสูงโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศอย่าง สหรัฐ และยุโรป

       สำหรับสินค้ากลุ่มเดิม บริษัทจะมีการขยายตลาดใหม่ๆ อย่าง ตลาดในไทยและอาเซียน สอดคล้องกับการลงทุนขยายไลน์ผลิตขวดพลาสติกแบบ PET กำลังการผลิต 400 ขวดต่อนาที เพื่อเตรียมกำลังการผลิตรองรับแลพให้เพียงพอต่อการเติบโตของยอดขายในอนาคตในตลาดไทยและอาเซียน โดยบริษัทจะเริ่มทำตลาดในต้นปี 2566 ในตลาด ฟิลิปปินส์ , กัมพูชา , เวียดนาม ,เมียนมา และไทย เป็นต้น 

        ทั้งนี้ บริษัทผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไปหลายประเทศในหลายทวีป โดยเป็นรายได้มาจากการส่งออก โดยมีประเทศคู่ค้าหลักอยู่ในทวีปต่างๆ ได้แก่ สหรัฐ ยุโรป , ญี่ปุ่น , จีน , เกาหลีใต้ และ ตะวันออกกลาง

       โดยบริษัทมีความเชื่อมั่นใน“จุดแข็ง” และ “รสชาติ” ของเครื่องดื่ม อย่าง มะพร้าวที่ปลูกในประเทศไทย ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และถูกปากผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาก  พร้อมทั้งบริษัทวางเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีคุณภาพ    เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่รักสุขภาพ และชื่นชอบวัตถุดิบธรรมชาติ (Natural Ingredients) ด้วยนวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่ง การขยายฐานตลาดจากคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้การสร้างแบรนด์สินค้าของ PLUS ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

      อย่างไรก็ตาม PLUS มีแนวทางในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ ได้แก่ การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเดิมเพื่อรักษาฐานลูกค้า รวมทั้งการขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ และการเปิดกว้างสำหรับโอกาส JV และ การซื้อกิจการ (M&A) อีกด้วย

     ท้ายสุด “พลแสง” บอกไว้ว่า จากการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบได้ดีขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และการประหยัดเนื่องจากขนาดซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง กลยุทธ์การเน้นการขายสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ได้แก่ กลุ่มน้ำมะพร้าว ควบคู่การควบคุมค่าใช้จ่าย

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์