เปิดเหตุผล ‘สตาร์บัคส์’ งดรับเงินสด คิกออฟสาขานำร่องในเมือง ย่านออฟฟิศ

เปิดเหตุผล ‘สตาร์บัคส์’ งดรับเงินสด  คิกออฟสาขานำร่องในเมือง ย่านออฟฟิศ

หากผู้บริโภคสายคาเฟ่ และชื่นชอบการดื่มกาแฟแบรนด์ระดับโลกอย่าง “สตาร์บัคส์” เชื่อว่าจะได้สัมผัสการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยิ่งช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ทางร้านปรับตัวด้วยการ “งดรับเงินสด” ลดการสัมผัส มองอีกมุมยังขานรับกระแสสังคมไร้เงินสดด้วย

ทว่า การงดรับเงินสด กลายเป็นกลยุทธ์ที่ยังดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่นำร่องเพียงบางสาขาเท่านั้น โดยเฉพาะสาขาในย่านใจกลางธุรกิจ(CBD) และสาขาที่ตั้งในอยู่ภายในอาคารสำนักงาน ซึ่งเต็มไปด้วยมนุษย์เงินเดือน สถานศึกษาชั้นนำ โรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ

ปี 2563 ผู้บริโภคกล่าวถึงกรณีร้านกาแฟสตาร์บัคส์งดรับเงินสดเป็นวงกว้าง โดยการชำระค่าสินค้าจะผ่าน Cashless system ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต E-wallet QR-code ต่างๆ ฯลฯ ทำให้พนักงานไม่ต้องสัมผัสเงิน โดยปัจจุบันสาขาที่เป็น Cashless store มีมากถึง 51 แห่งแล้ว

จากการสอบถามพนักงานร้านสตาร์บัคส์ จะได้รับข้อมูลว่า นโยบายของทางร้านนั้น ต้องการมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด งดรับเงินสดทุกสาขา แต่คงต้องใช้เวลา

“ตอนนี้ทางร้านเริ่มใช้ Cashless Store กับสาขาในเมืองก่อน จริงๆทางร้านก็อยากจะเป็น Cashless ทุกสาขา แต่คงไม่ใช่เร็วๆนี้”

สำหรับผู้บริโภคได้อะไร จากการงดรับเงินสด แน่นอน ย่อมได้ความสะดวกสบาย ตอบไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล เพราะมีแค่มีถือ บัตรสมาชิกสตาร์บัคส์ E-wallet ฯ ก็จับจ่ายใช้สอยได้ อาจไม่ต้องพกกระเป๋าสตางค์หรือเงินสดมาก

เปิดเหตุผล ‘สตาร์บัคส์’ งดรับเงินสด  คิกออฟสาขานำร่องในเมือง ย่านออฟฟิศ “คะแนนสะสม” เป็นสิ่งที่ได้มาจากทุกการใช้จ่าย ซึ่ง 25 บาท จะได้ดาว 1 ดวง ผู้บริโภคบางคนที่อยากได้ดาวเยอะย่อมซื้อเครื่องดื่มถี่ และดาวที่ได้ยังอัพเกรดบัตรสมาชิกสู่ระดับ Gold เพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่มากขึ้นด้วย เช่น เครื่องดื่มและขนมเค้กฟรีในเดือนเกิด ของขวัญจากสตาร์บัคส์ เป็นต้น

ยุคนี้ธุรกิจแข่งขันสูง ย่อมไม่มีผู้บริโภครายใด ต้องการจ่ายเงินแล้วได้แคสินค้า แต่ต้องได้ความคุ้มค่า คะแนนสะสม สิทธิพิเศษต่างๆเพิ่ม

ขณะที่มุมสตาร์บัคส์แน่นอน ในมิติธุรกิจ ไม่ใช่แค่ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่ธุรกิจคือการทำ “กำไร” เป็น “เกมการเงิน”

มาดูที่บัตร Starbuck Rewards ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการทำค้าขาย เพราะนอกจากจะใช้เก็บข้อมูล(Data)การใช้จ่ายของผู้บริโภค ยังเป็น “ขุมทรัพย์” การเงินด้วย เนื่องจากบัตรดังกล่าว จะต้อง “เติมเงิน” ล่วงหน้าก่อนนำไปใช้จ่าย เมื่อกาแฟ “สตาร์บัคส์” แก้วหนึ่งราคา “หลักร้อยบาท” การเติมเงินขั้นต่ำต้องมี 200 บาทขึ้นไป หรือมากกว่านั้นไปแตะหลัก “พันบาท”

ขณะที่การใช้จ่าย ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อในคราวเดียวจนหมดทุกบาททุกสตางค์ นั่นย่อมทำให้มีเงินบางส่วนถูก “พักไว้” ในมิติธุรกิจ แบรนด์สามารถบริหารจัดการเงินก้อนโตดังกล่าว เพื่อสร้างผลตอบแทนได้ ยิ่งหากกิจการใดมีการลงทุนใหญ่โต จนถึงขั้นขอสินเชื่อจากธนาคาร ต้องเจอภาระ “ดอกเบี้ย” ที่ขยับทุกวัน

Starbuck Rewards มีฐานสมาชิกกว่า 1 ล้านราย หากการเติมเงินนบัตรเฉลี่ย 300-500 บาท คิดเป็นเม็ดเงินมหาศาลเลยทีเดียว

สำหรับร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ทำตลาดในไทยราว 20 ปี การเป็นแบรนด์ระดับโลก ยังมีส่วนพลิกพฤติกรรมผู้บริโภค และจุดพลุการดื่ม “กาแฟนอกบ้าน” ให้เติบโตมีมูลค่านับ “หมื่นล้านบาท” ด้วย ปัจจุบันร้านให้บริการกว่า 300 สาขาทั่วไทย โดยมี “ไทยเบฟเวอเรจ” ยักษ์เครื่องดื่มแสนล้านของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ได้รับสิทธิ์การบริหารร้านในประเทศไทย