อุตสาหกรรมการบิน กับสถานการณ์ที่เปราะบาง

อุตสาหกรรมการบิน กับสถานการณ์ที่เปราะบาง

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาหลังจากนี้ของอุตสาหกรรมการบิน คือ มีการแพร่ระบาดของการกลายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งยังทำให้ประเทศไทยยังลังเลการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้น การควบคุมโรคที่ดียังเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน

ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายลงในหลายประเทศ แต่ยังอยู่ในระดับวิกฤติเพราะหลายชาติยังคงได้รับความบอบช้ำจากผลกระทบ และอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูประเทศ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุดทั่วโลกขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 520 ล้านคน จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐมีมากที่สุด 84.2 ล้านคน รองลงมาเป็นอินเดีย 43.1 ล้านคน บราซิล 30.6 ล้านคน ฝรั่งเศส 29.1 ล้านคน และเยอรมนี 25.7 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม 4.3 ล้านคน อยู่อันดับ 24 ของโลก

สถานการณ์การแพร่ระบาดที่คลี่คลายในหลายประเทศ นำมาสู่การผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่นำร่องการเปิดประเทศในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ที่ จ.ภูเก็ต มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 และมีการผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าประเทศในวันที่ 1 พ.ค.2565 โดยเฉพาะการลดเงื่อนไขการตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ก่อนขึ้นเครื่องบิน หลังจากมีการประเมินความพร้อมของระบบสาธารณสุข ว่าสามารถรับมือกับปัจจัยการผ่อนคลายการเปิดประเทศได้

ปัจจัยบวกดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมการบินมีความคาดหวังที่จะให้วันที่ 1 พ.ค.2565 เป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย หลังจากสายการบินหลายสายเปิดทำการบินเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างประเทศที่มีการประเมินว่าเส้นทางบินในเอเชียจะมีการขยายตัวมาก ซึ่งทำให้สายการบินไทยเพิ่มทำการบินหลายเส้นทาง เช่น อินเดีย รวมถึงสายการบินอื่นๆ ที่ทำการบินระหว่างประเทศเข้าไทยมากขึ้น

ในช่วงนี้หลายสายการบินจะเริ่มจองสล็อตการบินสำหรับฤดูหนาว ที่ถือเป็นช่วงไฮซีซันของการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเดือน ต.ค.2565 ถึง มี.ค.2566 ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองได้รับการจองเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมั่นใจว่าอุตสาหกรรมการบินจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างแท้จริง หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน และทำให้หลายสายการบินต้องปรับลดพนักงานหรือต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาหลังจากนี้ของอุตสาหกรรมการบินคือ มีการแพร่ระบาดของการกลายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งยังทำให้ประเทศไทยยังลังเลการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้น การควบคุมโรคที่ดียังเป็นเงื่อนไขสำคัญของการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนน้ำมันของสายการบิน ซึ่งถือว่ายังอยู่ช่วงเปราะบางของอุตสาหกรรมการบินที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด