กยท. ฟุ้ง เศรษฐกิจฟื้น ราคายางปรับขึ้นแน่เกิน 60 บาทต่อกก.
กยท. ขีดเส้นราคายางสูงกว่า กิโลกรัมละ 60 บาท หลังอุตสาหกรรมยางล้อฟื้นตัว รถเอวีหนุนใช้ยางพารามากขึ้น พร้อมปรับสวนยางเข้าโหมดความยั่งยืน รองรับมาตรการ ZERO CARBON โอกาสรายได้ที่เพิ่มขึ้น
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคายางพาราในปีนี้คาดว่ายังปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมยางล้อที่ฟื้นตัว การผลิตยางล้อรถยนต์ขนาดเล็กมีปริมาณใกล้เคียงกับสถานการณ์ก่อนโควิด19 ระบาด แม้สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยังยืดเยื้อ แต่สงครามก็ส่งผลดีกับจีน ที่เป็นตลาดหลักในการส่งออกยางพาราของไทย
เบื้องต้นผลการวิเคราะห์สถานการณ์ยางทั่วโลก พบว่าในปีนี้ความต้องการใช้ยางจะมากกว่าผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างอินโดนีเซียใน 3 ปี ข้างหน้าผลผลิตยางพาราจะลดลง 30 % เนื่องจากขาดแรงงาน ไม่มีแนวทางการจัดการโรคใบร่วงที่ดีพอ และเกษตรกรหันไปปลูกปาล์มน้ำมันที่สร้างรายได้มากกว่า
ดังนั้นทั้งหมดจะสะท้อนทำให้แนวโน้มราคายางปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะสูงกว่า กิโลกรัมละ 60 บาท อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม กทย. ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยง อื่นๆ ทั้งภัยธรรมชาติ ค่าระวางเรือ มาตรการกีดกันทางการค้าด้านคาร์บอนเครดิต อัตราแลกเปลี่ยน เงินเฟ้อ เป็นต้น
“ ในปีนี้ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายประกันรายได้เรื่องยางพารา แต่เพื่อลดแรงกระแทกด้านราคา กยท.จึงมีนโยบายรองรับเช่นการชะลอการเก็บน้ำยาง โครงการเก็บยางแห้งของผู้ประกอบการ โครงการแปรรูปยาง เป็นต้น โดยบางโครงการ กยท. ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) เพื่อสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ “
สำหรับ มาตรการ ZERO CARBON กยท. จะเริ่ม Set Zero ในปี 2565 และมาวิเคราะห์ดูว่ามาตรการนี้ จะมีข้อดีข้อเสียกับภาคการเกษตรของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างไรบาง แต่ในมุมของ กยท. มองว่าคือโอกาสของเกษตรกรชาวสวนยาง ที่เห็นผลทันทีสามารถลดค่าใช้จ่าย เกษตรกรสามารถขายคาร์บอน และได้โอกาสทางการแข่งขันทางการค้า
ปัจจุบัน ZERO CARBON ของกยท.ปีนี้จะทำสวนต้นแบบของ กยท. และในอีก 3 ปี ข้างหน้าจะเข้าสู่กระบวนการอย่างเต็มรูปแบบ และภายใน 10 ปี สวนยางพาราในประเทศไทยอย่างน้อย 1 ล้านไร่ ต้องเข้าสู่กระบวนการคาร์บอนเครดิต สวนยางของประเทศไทยจะต้องได้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต
นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลผลิตยาง ในช่วงเดือนม.ค.- เม.ย. 2565ทั่วโลกมีประมาณ 4.426 ล้านตัน และมีการใช้ยางประมาณ 4.523 ล้านตัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีความต้องการใช้ยางมากกว่า ผลผลิตยางที่ออกสู่ตลาด ประมาณ 9.7 หมื่นตัน
สำหรับประเทศไทยในไตรมาสที่ 2/2565 คาดมีผลผลิตออกสู่ตลาด 7.63 แสนตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 14.37% เนื่องจากสภาพอากาศและฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง กับสถานการณ์โรคใบร่วง คาดว่าเดือนพ.ค. จะมีผลผลิตประมาณ 2.09 แสนตัน และมิ.ย. มีผลผลิต 3.93 แสนตัน ด้านการส่งออก ไตรมาส 2 จะมี 9.94 แสนตัน ลดลง 6.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
“ อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถบรรทุกฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะ จีนมียอดผลิตยางรถยนต์ล้อขนาดเล็กและความต้องการเพิ่มขึ้น 10.2% สหรัฐอเมริกา 19.3% และญี่ปุ่น 13.1%อีกทั้ง ปริมาณการผลิตรถยนต์ รถยนต์ไฟฟ้าของโลกเพิ่มขึ้น109 % ส่วนใหญ่คือจีนมีแบ่งยอดขายรถยนต์ใหม่ ถึง 50 % จีนจึงเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในปีนี้ โดยรถเอวีจะหนัก จะออกตัวเร็ว ยางจะสึกเร็ว ผู้ประกอบการต้องปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อใช้ยางพารามากขึ้น “