ซัมเมอร์ ปลุกเครื่องดื่มไม่ขึ้น! 4 เดือนแรก แบรนด์ใช้งบโฆษณาลด 4%

ซัมเมอร์ ปลุกเครื่องดื่มไม่ขึ้น!  4 เดือนแรก แบรนด์ใช้งบโฆษณาลด 4%

กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ยังไม่ฟื้นกลับมาใช้จ่ายเงินทำแคมเปญสื่อสารการตลาด ร้อนนี้ที่เป็นไฮซีซั่น ยังดึงแบรนด์ให้เทงบไม่ขึ้น 4 เดือนแรก ยังเบรกใช้จ่าย ส่วนองค์กรยักษ์ใหญ่ทั้ง เนสท์เล่-ยูนิลีเวอร์ ยังเทงบน้อยกว่าปีก่อน ส่วน "ลาซาด้า" มาแรงติดท็อป 10 สายเปย์งบ

หน้าร้อน เป็นนาทีทองที่แบรนด์เครื่องดื่มจะแห่ใช้งบโฆษณา ทำแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายให้เติบโต แต่เพราะปัจจัยลบมีมากมาย ทำให้ค่ายสินค้ายักษ์ใหญ่ ต่างพากันแตะเบรก! เช่น ภาวะต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น จากสงคราม น้ำมันแพง เงินเฟ้อ ไวรัสโควิด-19 ยังระบาด เป็นต้น

ดังนั้น ตัวเลขงบโฆษณา 4 เดือนแรกของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม จึงออกมาไม่สวยหรูนัก โดย นีลเส็น เปิดเผยภาพรวมการใช้จ่ายเงินโฆษณาของกลุ่มสินค้าต่างๆ เป็นดังนี้

“อาหารและเครื่องดื่ม” 4 เดือน เงินสะพัดเพียง 6,354 ล้านบาท “ติดลบ 4%" เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีการใช้จ่ายเงินโฆษณามากสุด เทียบทุกหมวดอุตสาหกรรม

ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มที่ชะลอใช้จ่าย จนตลาดอยู่ใน Red Zone แต่สินค้าหมวดจำเป็น อย่าง กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล รวมถึงเครื่องเครื่องสำอาง “ติดลบ” เช่นกัน โดยมีเงินสะพัด 4,952 ล้านบาท หดตัว 6% เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ใช้จ่ายเงิน 1,974 ล้านบาท หดตัว 18% ชะลอใช้เงินอย่างต่อเนื่อง สินค้าของใช้ในบ้านหรือ House Hold Product เป็นอีกหมวดเงินสะพัด 1,171 ล้านบาท หดตัว 15% เป็นต้น

มาดูหมวดอุตสาหกรรมที่เดินหน้าลงทุนทำแคมเปญสื่อสารการตลาดผ่านสื่อต่างๆ เช่น ค้าปลีกและร้านอาหารมูลค่า 3,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เจ้าของสื่อช่องต่างๆที่มีสินค้าและทำการตลาดผ่านหน้าจอตัวเอง(Media&Marketing) มูลค่า 1,966 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% ภาครัฐเองไม่น่อยหน้า ใช้จ่ายเงินโฆษณา 1,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่า 518 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% อยู่ในช่วงขาขึ้นกำลังกลับมาโปรโมทธุรกิจ รับสัญญาณบวกมากขึ้น โดยเฉพาะครึ่งปีหลังรัฐจะเปิดประเทศ การประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

ส่วนเม็ดเงินโฆษณารวม 4 เดือนแรก นีลเส็น รายงานมูลค่า 38,103 ล้านยาท เพิ่มขึ้น 3.41% เฉพาะเดือนเมษายน 2565 เงินสะพัด 10,099 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.12% ที่น่าสนใจคือ สื่อทุกประเภทสามารถดึงเงินโฆษณาจากแบรนด์ต่างๆ จนสร้างการเติบโตเกือบยกแผง มีเพียง “สื่อสิ่งพิมพ์” ที่ยังคง “ติดลบ” 1.66%

แต่พอดูทั้ง 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.65) กลุ่มสื่อดั้งเดิมยังหืดจับ เพราะตัวเลขชิงงบโฆษณายังติดลบ โดยสื่อทีวีที่ครองสัดส่วนเงินมากสุดมูลค่า 20,686 ล้านบาท หดตัวลง 3.09% วิทยุ 1,003 ล้านบาท ลดลง 2.05% สื่อสิ่งพิมพ์ 912 ล้านบาท ลดลง 10.94%

กลุ่มที่เติบโตไล่ตั้งแต่ สื่ออินเตอร์เน็ต 9,013 ล้านบาท เติบโต 9.18% สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 3,981 ล้านบาท เติบโต 17.96% สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ 2,239 ล้านบาท เติบโต 40.8% สูงสุดเมื่อเทียบทุกสื่อ และสื่อโฆษณาในห้าง 269 ล้านบาท เติบโต 16.69%

สำหรับบริษัทที่ใช้จ่ายงบโฆษณาสูงสุด ยังเป็นองค์กรเดิม แต่ค่ายที่ใจป้ำทำแคมเปญสื่อสารการตลาดเปลี่ยนตำแหน่ง เมื่อ “เนสท์เล่(ไทย)” เทงบ 1,063 ล้านบาท แซง “ยูนิลีเวอร์” ใช้งบ 1,036 ล้านบาท แต่ทั้ง 2 ค่าย ใช้งบลดลงจากปีก่อนทั้งคู่ ที่ 6%และ 38% ตามลำดับ ขณะที่พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล(พีแอนด์จี) เทงบ 821 ล้านบาท ใช้เงินเพิ่ม 1% ตามด้วย แมสมาร์เก็ตติ้ง เจ้าของสินค้ายาสีฟันเทพไทย ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมโอเค เฮอร์เบิล ฯ 654 ล้านบาท และโมโม ช้อปปิ้ง ใช้จ่าย 540 ล้านบาท

ที่น่าสนใจคือ Top 10 ที่ใช้จ่ายเงินสูงสุด มีค่ายอี-มาร์เก็ตเพลสอย่าง “ลาซาด้า”(Lazada) ขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 9 เทงบถึง 433 ล้านบาท