คลังหนุนงบ2หมื่นล้านลดภาษีดีเซล5บาท

คลังหนุนงบ2หมื่นล้านลดภาษีดีเซล5บาท

คลังชงครม.อังคาร 17 พ.ค.นี้ ลดภาษีน้ำมันสูงสุด 5 บาทต่อลิตร ใช้งบประมาณไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อชะลอเงินเฟ้อภายในประเทศ

แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยลดปัญหาราคาน้ำมันดีเซลแพงในขณะนี้ โดยได้เสนอให้พิจารณาใน 2 แนวทาง โดยแนวทางแรก คือ การลดภาษีน้ำมันในอัตราลิตรละ 3 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน แนวทางที่สอง คือ ลดภาษีน้ำมันในอัตราลิตร 5 บาท ซึ่งจะใช้เวลาที่สั้นลงกว่า 3 เดือน

 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งสองแนวทางจะต้องใช้งบประมาณไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 มากเกินไป

 

“ครม.จะเลือกแนวทางใดก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใด จะต้องกระทบต่อรายได้รัฐไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท”

ทั้งนี้ คาดว่า ครม.พิจารณามาตรการดังกล่าวในวันอังคารที่ 17 นี้ ก่อนที่มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันในรอบแรกจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อเสนอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อภายในประเทศที่ปัจจัยหลักมาจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า สถานการณ์สงครามดังกล่าวคงยื้อเยื้อ ทำให้ราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน การเลือกลดภาษีน้ำมัน เพื่อดูแลค่าครองชีพของประชาน แลกกับการที่รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ น่าจะมีความคุ้มค่ามากกว่า

“ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ปัญหาเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าปัญหาอื่นๆ โดยน่ากลัวกว่าการที่รายได้ของรัฐบาลหดหายไป”

เมื่อปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ได้คาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไป ในปีนี้ว่าจะขยายตัว 5% จากปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมที่คาดไว้เมื่อเดือนมกราคมนี้ ที่คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะขยายตัวเพียง 1.9%

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท/ลิตร จากอัตราภาษีที่อยู่ที่ 5.99 บาท/ลิตร เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการที่เผชิญกับแรงกกดดันจากค่าครองชีพที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับเพิ่มขึ้น

โดยมาตรการลดภาษีดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ 18 ก.พ. ถึง 20 พ.ค. ซึ่งการลดภาษีสรรพสามินน้ำมันดีเซล 3 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ทำให้กรมสรรพสามิตซึ่งเป็นผู้จัดเก็บภาษีตัวนี้ สูญเสียรายได้รวม 1.71 หมื่นล้านบาท โดยเฉลี่ยแล้ว การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 1 บาท/ลิตร/เดือน รัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษี 1.9 พันล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลดังกล่าว จำเป็นต้องประเมินร่วมกับการคาดการณ์รายได้ของรัฐบาลด้วย  ซึ่งรายได้ของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิรวม 1.09 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 6.88 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 6.8%

โดยรายได้หลักมาจาก 3 กรมจัดเก็บภาษี ซึ่งกรมสรรพากร สามารถจัดเก็บได้เกินกว่าเป้าหมาย 1.01 แสนล้านบาท  หรือเกินกว่าเป้า 13.5 %  กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย  1.69 หมื่นล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 5.8 % ซึ่งเป็นผลมาจากการลดภาษีน้ำมัน และกรมศุลกากร จัดเก็บได้สูงกว่าเป้า 2.44 พันล้านบาท หรือสูงกว่าเป้า4.8 %

ทั้งนี้ แนวโน้มรายได้ในครึ่งปีหลังของปีงบประมาณนี้ น่าจะสามารถรักษาระดับการเกินเป้าหมายดังกล่าวได้ต่อไป แม้ว่า รายได้ก้อนใหญ่คือภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่จะเข้ามาในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งเป็นผลประกอบการของภาคธุรกิจในปีที่แล้ว ที่เศรษฐกิจ ยังได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างมากอาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี

อย่างไรก็ตาม คาดว่า รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะเข้ามาในเดือนส.ค.นี้ ซึ่งเป็นผลประกอบการของภาคธุรกิจในครึ่งปีแรกของปีนี้ น่าจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษี เนื่องจาก ในปีนี้การส่งออกของไทยสามารถขยายตัวได้ค่อนข้างดี โดยในสามเดือนแรกของปีนี้ ส่งออกสามารถขยายตัวได้ถึง 15 % เทียบกับทั้งปีที่แล้วที่ขยายตัว 20%

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลต่อรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม