เปิดแผนรับมือฝนหนักปี 65 บริหารรัดกุม-กักเก็บน้ำทุกหยด

เปิดแผนรับมือฝนหนักปี 65   บริหารรัดกุม-กักเก็บน้ำทุกหยด

เมื่อไทยเข้าฤดูฝนที่เป็นฤดูการเพาะปลูก บริหารจัดการน้ำจึงยังมีความจำเป็น และเป็นโอกาสเดียวที่จะเก็บน้ำให้มากที่สุด เพื่อใช้ในฤดูแล้งถัดไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีพายุเข้ามาในประเทศ 2 ลูก ซึ่งจะได้น้ำมากกว่าปีที่ผ่านมาและทำให้วางแผนการเพาะปลูกได้มากขึ้น

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แม้ไทยเข้าสู่ฤดูฝน แต่การบริหารจัดการน้ำโดยกรมชลประทานก็มีความสำคัญ เพราะเป็นฤดูกาลเพาะปลูก ในปี 2565 ได้ย้ำให้น้ำที่ใช้สนับสนุนในกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญต้องบริหารอย่างรัดกุมเพื่อเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยยึด 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565

เปิดแผนรับมือฝนหนักปี 65   บริหารรัดกุม-กักเก็บน้ำทุกหยด เปิดแผนรับมือฝนหนักปี 65   บริหารรัดกุม-กักเก็บน้ำทุกหยด

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปี 2565 จะมีพายุจะเข้าไทย 2 ลูก แต่ระบุไม่ได้ว่าเข้ามาลักษณะใด แต่ได้สั่งการให้กรมชลประทานเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรและเครื่องมือเครื่องสูบน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมประชาสัมพันธ์ประเมินสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิยาและหน่วยงานด้านน้ำทุกหน่วยงานอย่างใกล้ชิด

สำหรับต้นทุนน้ำปี 2565 ดีกว่าปีที่ผ่านมา จากการเก็บกักน้ำบวกกับการบริหารน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้วางแผนเพาะปลูกได้มากขึ้น เบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตรจะทำแผนปลูกพืชใช้น้ำน้อยอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ล้านไร่ 

รวมทั้ง กรมการข้าว จะจัดหาพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพ และประสานกระทรวงพาณิชย์มองหาตลาดใหม่เพิ่ม เช่น ตะวันออกกลาง

"เราต้องพร้อม 100% ในการรับมือฝนขอให้ทุกหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด เกษตรกรควรเก็บกักน้ำฝนให้ได้มากที่สุด และใช้น้ำทุกหยดให้มีคุณค่า เพราะต้นทุนน้ำมีคุณค่ามากไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า และเพื่อสำรองได้ในฤดูถัดไป โดยปีนี้จะกักเก็บมากกว่าปีที่ผ่านมา มั่นใจว่าไม่ขาดแคลนน้ำ”

ประพิศจันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การบริหารน้ำในฤดูฝน 2565 ณ วันที่ 1 พ.ค.2565 มีน้ำใช้การได้ 19,755 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) กรมชลประทานวางแผนจัดสรรแต่ละทั่วประเทศ ประกอบด้วย น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 2,329 ล้าน ลบ.ม.หรือ 7% การรักษาระบบนิเวศ 6,850 ล้าน ลบ.ม.หรือ 25% การเกษตร 22,068 ล้าน ลบ.ม.หรือ 69% และ อุตสาหกรรม 508 ล้าน ลบ.ม.หรือ 2% ของปริมาณน้ำที่ใช้การได้

ทั้งนี้ คาดการณ์จะมีพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 27.63 ล้านไร่ แยกเป็นลุ่มเจ้าพระยา 10.57 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 2.24 ล้านไร่ ในช่วงฤดูฝนนี้กรมชลประทานส่งเสริมให้เกษตรกรอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เพื่อสำรองน้ำชลประทานไว้เสริมกรณีฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์

นอกจากการปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 กรมชลประทานเตรียมรับมือปัญหาอุทกภัย โดยกำหนดพื้นที่เสี่ยงและสั่งการให้กระจายเครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ไปประจำที่ศูนย์บริหารเครื่องจักรกลที่ 1-7 เพื่อให้ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที รวมถึงกำชับทุกพื้นที่ติดตามการคาดการณ์พยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาใกล้ชิดและเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับผลการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2564/65 ได้จัดสรรน้ำสนับสนุนครบทุกกิจกรรม 22,998 ล้าน ลบ.ม.จากแผน 22,280 ล้าน ลบ.ม.เกินแผน 700 ล้าน ลบ.ม.ผลการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 8.11 ล้านไร่ เกินแผนระบุไว้ 6.41 ล้านไร่

ทั้งนี้ จะบริหารไม่ให้น้ำอุปโภคบริโภคขาดแคลน น้ำรักษาระบบนิเวศมีเพียงพอ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ถึงแม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มจากแผน 1.7 ล้านไร่ อีกทั้งมีปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝน 19,950 ล้าน ลบ.ม.มากกว่าแผนที่ตั้งไว้ถึง 4,000 ล้าน ลบ.ม.

ซึ่งทั้งหมดเป็นผลจากการบริหารจัดการโดยใช้ระบบชลประทานที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ การสร้างการรับรู้กับประชาชนในการประหยัดน้ำและสนับสนุนการทำนาเปียกสลับแห้ง