บิตคอยน์หลุด 30,000 ดอลล์ทำแมงเม่ากระเป๋าฉีก 40%

บิตคอยน์หลุด 30,000 ดอลล์ทำแมงเม่ากระเป๋าฉีก 40%

ข้อมูลจาก Glassnode ระบุว่า นักลงทุนราว 40% ที่ถือครองบิตคอยน์ได้ประสบภาวะขาดทุน ขณะที่บิตคอยน์มีมูลค่าดิ่งลงเกือบ 55% จากที่เคยพุ่งแตะ 69,000 ดอลลาร์ในเดือนพ.ย.2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อพิจารณาเฉพาะเดือนเม.ย. พบว่า วอลเล็ตบิตคอยน์ราว 15.5% ประสบภาวะขาดทุน หลังบิตคอยน์ดิ่งลงสู่ระดับ 31,000 ดอลลาร์ โดยปรับตัวลงตามดัชนีแนสแด็ก และสวนทางความเชื่อที่ว่าบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ บิตคอยน์ร่วงลงต่ำกว่าระดับ 30,000 ดอลลาร์ในวันนี้ ใกล้หลุด 1,000,000 บาท หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่าคาด แม้ต่ำกว่าเดือนมี.ค. แต่ก็ยังคงใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

เมื่อเวลา 20.09 น.ตามเวลาไทย บิตคอยน์ร่วงลง 5.94% สู่ระดับ 29,475.25 ดอลลาร์ หรือราว 1,020,000 บาท ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Coinbase

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากบิตคอยน์หลุดระดับ 30,000 ดอลลาร์ ก็อาจทรุดตัวลงทดสอบระดับ 25,000 ดอลลาร์

มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัลทั่วโลกวูบหายไปถึง 8 แสนล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 1 เดือน ท่ามกลางความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และการปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ซึ่งจะฉุดสภาพคล่องในตลาด

ทั้งนี้ ข้อมูลของ Coinmarketcap.com ซึ่งรวบรวมราคาสกุลเงินดิจิทัลมากกว่า 1,000 สกุลจากตลาดซื้อขายทั่วโลก พบว่า มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดดิ่งลงสู่ระดับ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวานนี้ จากระดับ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 2 เม.ย.

ก่อนหน้านี้ มูลค่าตลาดของสกุลเงินดิจิทัลพุ่งแตะระดับ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนพ.ย.2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นักลงทุนกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดจะส่งผลให้เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% แต่ต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2524

นอกจากนี้ ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.2% แต่ต่ำกว่าระดับ 1.2% ในเดือนมี.ค.

ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.0% แต่ต่ำกว่าระดับ 6.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2525

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4% และสูงกว่าระดับ 0.3% ในเดือนมี.ค.

นักลงทุนคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย. แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่าเฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขนาดนั้นก็ตาม

เฟด มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

นอกจากนี้ เฟดยังเปิดเผยแผนการทำ QT โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

นักลงทุนยังกังวลว่าการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและปรับลดขนาดงบดุลอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย หลังจากที่หดตัว 1.4% ในไตรมาส 1/65