ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.อยู่ที่ 40.7 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ8 เดือนจากความกังวลราคาน้ำมัน ค่าครองชีพที่สูง โอมิครอน แนะรัฐดูแลราคาพลังงาน ค่าครองชีพ คนละครึ่งเฟส 5

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 40.7 ลดลงจากเดือน มี.ค.65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.0 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2564  ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 34.6, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 38.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 49.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมี.ค.

สาเหตุสำคัญมาจากจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นรวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต นอกจากนี้การที่ระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

นายธนวรรธน์  กล่าวว่า  การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไรและยาวนานเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-4.0% ในปีนี้

“รัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะคนละครึ่ง เฟส 5 ในเดือนมิ.ย.นี้เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ และช่วยเสริมกำลังซื้อให้แก่ประชาชน”

ขณะที่ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยอยู่ที่ 35.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากความกังวลโควิดโอมิครอน ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้น โดยหอการค้าทั่วประเทศยังเห็นว่า เศรษฐกิจยังแย่ลง ส่วนการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยวก็ยังแย่ สาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันเพราะเป็นตัวต้นทุนของราคาสินค้า ซึ่งหลายธุรกิจเริ่มอยู่ไม่ไหว และเริ่มมีการปรับราคาสินค้าบ้าง แต่ในส่วนการจ้างงานยังไม่มีการปลดคนงานแต่ก็เริ่มมีความเสี่ยงที่จะมีการปลดคนงานแล้ว

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจอยากให้รัฐบาลออกมาตรการดูแลค่าครองชีพและภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจในการดำเนินกิจการ ออกมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลราคาพลังงาน และดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศจากการปรับเปลี่ยนมาตรการในการเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ